ข่าว

พระบรมราชานุญาต ให้ถอดยศทหาร-เรียกคืนเครื่องราชฯ 7 ราย ผิดวินัยร้ายแรง

พระบรมราชานุญาต ให้ถอดยศทหาร-เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 7 ราย ผิดวินัยร้ายแรง

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศทหารและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยมีใจความว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดนายทหารสัญญาบัตร สังกัดกองทัพบก จำนวน 7 ราย ออกจากยศทหาร ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติยศทหาร พ.ศ. 2479 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยศทหาร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2501

ประกอบระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ. 2507 ข้อ 2 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่นายทหารสัญญาบัตรทั้ง 7 ราย ได้รับพระราชทานทุกชั้นตราตามข้อ 6 และข้อ 7 (2) และ (4) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548 ดังนี้

1. พันตรี ศรวุฒิ นวลประเสริฐ ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. 2566 เนื่องจากต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ลักทรัพย์ ยักยอก คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2566 และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจัตุรถาภรณ์ช้างเผือก

2. พันตรี มงคล พฤกษกิจกุลชัย ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. 2566 เนื่องจากกระทำความผิดฐานหนีราชการทหารในเวลาประจำการ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตรีตาภรณ์ช้างเผือก จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก และจัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย

3. ร้อยเอก กษิพัฒ หรือ พิสิฐ ยศสมบัติ ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. 2567 เนื่องจากกระทำผิดวินัยทหารฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตรีตาภรณ์มงกุฎไทย และเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย

4. ร้อยเอก สมเกียรติ ดูนนา ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 2567 เนื่องจากกระทำผิดวินัยทหารฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจตุรถาภรณ์มงกุฎไทย เหรียญทองช้างเผือก และเหรียญจักรมาลา

5. ร้อยเอกหญิง กัลยา พิธีการ ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2567 เนื่องจากกระทำผิดวินัยทหารฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตรีตาภรณ์มงกุฎไทย

6. ร้อยโท กฤษนุวัตร มานะวงศ์สกุล ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 2561 เนื่องจากต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 คดีถึงที่สุด เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2561 และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจตุรถาภรณ์มงกุฎไทยและเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย

7. ร้อยโท สุทธิเวช หรือ รวีธนพัชร์ พระเดชพงษ์ ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2567 เนื่องจากกระทำความผิดฐานหนีราชการทหารในเวลาประจำการ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นเหรียญทองช้างเผือก

และประกาศฉบับ 2 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศ ร้อยตรี ภาณุพงศ์ เจริญศรี สังกัดกองทัพบก ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2567 เนื่องจากกระทำผิดวินัยทหารฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

 

ภาพจาก ratchakitcha
ภาพจาก ratchakitcha

พระบรมราชานุญาต VS พระบรมราชโองการ ต่างกันอย่างไร

คำราชาศัพท์ทั้งสองคำนี้ ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ และมีความหมายแตกต่างกัน พระบรมราชานุญาต หมายถึง การอนุญาต หรือ การอนุมัติ เป็นการที่พระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบ หรือทรงยินยอมให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่มีผู้กราบบังคมทูลขอ หรือตามที่มีการเสนอเรื่องขึ้นไป เปรียบเสมือนการ “ให้” หรือ “อนุญาต” ในเรื่องนั้นๆ

ตัวอย่างเช่น การขอพระบรมราชานุญาตใช้สถานที่ในเขตพระราชฐาน, การขอพระบรมราชานุญาตให้จัดกิจกรรม

ส่วน พระบรมราชโองการ หมายถึง คำสั่งของพระมหากษัตริย์ เป็นพระราชดำรัสสั่ง หรือข้อความที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประกาศหรือให้ปฏิบัติ มักใช้ในเรื่องสำคัญที่เป็นทางการ เช่น การแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งสำคัญ, การประกาศใช้กฎหมาย (หลังผ่านกระบวนการนิติบัญญัติแล้ว), หรือการมีพระราชดำรัสสั่งในเรื่องต่างๆ เปรียบเสมือน “คำสั่ง” หรือ “ประกาศิต”

ตัวอย่างเช่น มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี, มีพระบรมราชโองการให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

yo

นักเขียนข่าว บทความทั่วไปประเภทไลฟ์สไตล์ สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มศก. ติดต่อได้ที่อีเมล yo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx