กทม. ยกเลิกประกาศเขตภัยพิบัติฉบับล่าสุด ยึดประกาศเดิม เร่งค้นหาผู้ประสบภัยตึกถล่ม

กทม. ประกาศยกเลิกประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2568 ขอให้กลับไปใช้ประกาศฉบับเดิมเนื่องจากภารกิจค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเขตจตุจักร และพื้นที่ต่าง ๆ ยังดำเนินต่อไป
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 กรุงเทพมหานคร เผยแพร่ข้อความประกาศสำคัญ จากกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ผ่านทางเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยมีเนื้อหาเป็นการแจ้งยกเลิกประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2568 และให้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ฉบับลงวันที่ 28 มีนาคม 2568 เรื่อง “เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ยังคงมีผลบังคับใช้
การตัดสินใจยกเลิกประกาศฉบับล่าสุดและกลับไปใช้ฉบับเดิมนั้น เนื่องจากในขณะนี้ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงปฏิบัติภารกิจค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์อาคารทรุดตัวในเขตจตุจักร ซึ่งยังคงต้องดำเนินการค้นหาผู้ที่อาจติดค้างอยู่ภายใน
ประกาศฉบับเต็ม ระบุไว้ดังนี้ “ประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เรื่อง ยกเลิกประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2568
ตามที่ได้มีประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 31 มีนาคม 2568 เรื่อง ยกเลิกประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 28 มีนาคม 2568 เรื่อง เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นั้น
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ได้ประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่ายังคงมีภารกิจในการค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ภายในอาคารที่ทรุดตัวในพื้นที่เขตจตุจักร รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่เขตต่าง ๆ จึงให้ยกเลิกประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เรื่อง ยกเลิกประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 เรื่อง เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
โดยให้ประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เรื่อง เขตพื้นที่ประสบภัยสาธารณภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 ยังคงมีผลให้กรุงเทพมหานครเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 เพื่อให้การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2564 – 2570
ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการสาธารณภัยให้ผู้อำนวยการเขตในแต่ละเขตของกรุงเทพมหานครเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครรับผิดชอบและปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ในเขตของตน และมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครตามที่ได้รับมอบหมาย ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550″

ทั้งนี้ การประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจะช่วยให้กรุงเทพมหานครสามารถประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตามกฎหมายและแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างทันท่วงทีและครอบคลุมทุกด้าน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ศูนย์เอราวัณ กทม. อัปเดต 1 เม.ย. 68 ยอดผู้เสียชีวิต 20 ราย บาดเจ็บ 34 ราย
- อัปเดต แผ่นดินไหวกรุงเทพ ล่าสุด ผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ-สูญหาย เหตุตึกถล่ม
- ปิดทางพิเศษ ขึ้น-ลง ด่านดินแดงชั่วคราว หลังแผ่นดินไหวกรุงเทพ