ครูไทยสุดทน แฉภาระงานล้น ถูก สตง.บี้ ถามหาระบบตรวจสอบที่เป็นธรรม

ดราม่าร้อนข้ามคืน เพจดังจุดประเด็น ครูไทยถูกบังคับทำสารพัดงานนอกเหนือการสอน ไร้คนช่วย-ไร้การคุ้มครอง ซ้ำเจอระบบตรวจสอบสุดเข้ม เน้นจับผิด ไร้ประสิทธิภาพ?
เมื่อประเด็นสะท้อนปัญหาของครูไทย กับภาระงานที่นอกเหนือการสอน และการถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น กลายเป็นไวรัลที่ถูกแชร์และวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลังจากที่ เพจ Drama-addict ได้แชร์โพสต์จากเพจ ครูขอสอน ซึ่งตั้งคำถามถึงปรากฏการณ์ ทัวร์ลง สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ที่มีครูจำนวนมากเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะครูที่รับผิดชอบงานการเงิน พัสดุ และอาหารกลางวัน
โพสต์ต้นเรื่องจากเพจ ครูขอสอน ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่กัดกินวงการศึกษาไทย ตั้งคำถามสำคัญว่า เหตุใด ครู ซึ่งควรมีบทบาทหลักในการออกแบบการเรียนรู้ พัฒนา และดูแลเด็กนักเรียนจำนวนมาก กลับต้องมารับผิดชอบงานธุรการ การเงิน การพัสดุ และโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งเป็นงานที่ซับซ้อนและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แตกต่างจากหน่วยงานราชการอื่นที่มีนักวิชาการเฉพาะตำแหน่ง หรือแม้กระทั่งงบประมาณจ้างบุคคลภายนอก (Outsource) แต่สำหรับโรงเรียนส่วนใหญ่ กลับกลายเป็นภาระหน้าที่ของครู และครูเท่านั้น
“เห็นทัวร์ลง สตง. มีคณะครูร่วมจำนวนมาก โดยเฉพาะ การเงิน พัสดุ อาหารกลางวัน ทำไมนะ?”
“สำหรับใครที่ผ่านไปผ่านมา นอกจากเรื่อง วีรกรรม สตง. แล้ว อยากใช้พื้นที่ตรงนี้ สื่อสารว่า “ครู” ที่ควรเชี่ยวชาญการออกแบบการเรียนรู้ พัฒนาการของเด็ก ดูแลเด็กเป็นสิบเป็นร้อยคน ไม่ว่าจะอยู่ในบริบทเงื่อนไขโรงเรียนแบบไหน ที่อ่านมาในคอมเม้นต์นั่นคืองานที่ “ครู” ต้องทำด้วย ชวนคิดต่อว่าครูที่รับผิดชอบการเรียนรู้ ของผู้เรียน ที่มีความซับซ้อน ละเอียดอ่อนอยู่แล้ว ควรต้องรับผิดชอบเรื่องพวกนี้เองจริงๆเหรอ ?…หน่วยงานอื่น มีนักวิชาการพัสดุ นักวิชาการการเงินและบัญชี นักวิชาการทรัพยากรบุคคล หรือแม้แต่งบจ้าง outsource หลาย ๆ เรื่อง แต่ทำไมโรงเรียนส่วนใหญ่จึงเป็น “ครู” และ “ครู” เท่านั้น”
ทั้งนี้ เพจ “ครูขอสอน” ไม่ได้ปฏิเสธความสำคัญของการตรวจสอบหรือการแก้ปัญหาทุจริต แต่ได้วิพากษ์ถึง “ระบบราชการไทยที่ใช้ทรัพยากรมหาศาลสร้างระบบตรวจสอบ ที่ไร้ประสิทธิภาพ” ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคในการทำงาน บั่นทอนขวัญกำลังใจ สร้างภาระ และลงโทษคนทำงานหน้างาน (ครู) เกินกว่าเหตุจำเป็น โดยที่การทุจริตคอร์รัปชันเชิงระบบ หรือการ “โกงแบบถูกระเบียบ” อาจยังคงฝังรากลึก
ครูซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญด้านเอกสาร การเงิน หรือพัสดุ แต่จำใจต้องทำเพื่อให้โรงเรียนขับเคลื่อนไปได้ กลับต้องมารับผิดชอบความผิดพลาด และรู้สึกเหมือน “ถูกไล่บี้เหมือนมดเหมือนแมง” จากหน่วยงานตรวจสอบที่มีอำนาจ โดยไม่ได้รับการเหลียวแลหรือปกป้องจากรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจที่กรณีเกี่ยวกับ สตง. (ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม) จะจุดกระแสความรู้สึกร่วมของครูจำนวนมาก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รู้จัก ตัวอักษรบน ‘เหล็กเส้น’ SD50T ตึกสตง. บอกคุณสมบัติความแกร่ง แต่ทำไมยังถล่ม
- ซึ้งน้ำใจ หนุ่มปั่นจักรยาน ช่วยเคลียร์ทางรถพยาบาลส่งผู้ป่วย วันเกิดเหตุแผ่นดินไหว
- “ทวี” สั่งสอบปมตึก สตง. ถล่ม อาจเข้าข่ายฮั้วประมูล ลุยตรวจ บ.ต่างชาติ
อ้างอิง : Drama-addict