เปิดโทษ พ.ร.บ.คอมฯ โพสต์เฟคนิวส์ 1 เม.ย. คุก 5 ปี ปรับ 1 แสน

บช.สอท. ประกาศคุมเข้ม April Fool’s Day ห้ามสร้าง-แชร์ข่าวปลอมเด็ดขาด อ้างสถานการณ์เปราะบางหลังเหตุภัยพิบัติ หวั่นสร้างความตื่นตระหนก ย้ำโทษหนักทั้งจำทั้งปรับตาม พ.ร.บ.คอมฯ และกฎหมายอาญา
บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ ออกประกาศเตือนประชาชนอย่างจริงจัง ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ตำรวจไซเบอร์ – บช.สอท.” เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 ให้ระมัดระวังการสร้างหรือเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จในวัน April Fool’s Day หรือ วันเมษาหน้าโง่ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี โดยเน้นย้ำว่าจะดำเนินการจับกุมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้กระทำผิดทุกราย
เนื่องจากประเทศไทย เพิ่งประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวในหลายพื้นที่ และเหตุอาคารถล่มในพื้นที่จตุจักร ซึ่งสร้างความสะเทือนใจและความกังวลแก่ประชาชนเป็นวงกว้าง ตำรวจไซเบอร์จึงขอความร่วมมือประชาชน งดการเล่นตลกด้วยการสร้างเรื่องโกหก หรือแชร์ข่าวปลอมต่าง ๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด ความตื่นตระหนก หรือสร้างความเดือดร้อนเสียหายต่อส่วนรวมได้
บช.สอท. ได้ระบุถึงข้อกฎหมายและบทลงโทษที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและเผยแพร่ข่าวปลอมไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
- การนำเข้าข้อมูลปลอมสู่ระบบคอมพิวเตอร์: การสร้างข่าวปลอม หรือนำเข้าข้อมูลเท็จ ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14(1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลเท็จ: การแชร์ หรือส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(5) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา: การร่วมแสดงความคิดเห็นในลักษณะหยาบคาย หรือเข้าข่ายหมิ่นประมาทผู้อื่นผ่านสื่อ อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ตำรวจไซเบอร์จึงขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการเสพและส่งต่อข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 1 เมษายนนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายและสร้างผลกระทบต่อสังคมโดยรวม
อ้างอิง: ตำรวจไซเบอร์ – บช.สอท.