ผลสำรวจคนไทยรู้หนังสือ เพิ่มขึ้นเกือบ 99% อันดับ 1 อาเซียน แซงมาเลย์-สิงคโปร์

เปิดผลสำรวจการรู้หนังสือของคนไทย ปี 68 พุ่งขึ้นสูงเกือบ 99% ก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน แซงหน้าประเทศเพื่อนบ้าน มาเลเซีย-สิงคโปร์ แต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังน่าห่วง พบอัตราการไม่รู้หนังสือสูงกว่า 10%
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึง ผลการสำรวจการรู้หนังสือของประชากรไทย ประจำปี 2568 ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยผลการสำรวจครั้งนี้ได้ทำการสุ่มตัวอย่างครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 7,429 ตำบล คิดเป็น 225,963 ครัวเรือน หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 533,024 คน
ผลการสำรวจพบว่า อัตราการรู้หนังสือของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ 1.17 และในกลุ่มอายุ 7 ปีขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ 1.16 ซึ่งถือว่าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยคิดเป็น 98.83% ของประชากรทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 5% จากเดิมที่เคยสำรวจไว้ในปี 2561 ซึ่งมีอัตราการรู้หนังสืออยู่ที่ 94%
เมื่อพิจารณาในรายจังหวัด พบว่ามีถึง 51 จังหวัดที่มีอัตราการไม่รู้หนังสือน้อยกว่า 1% และอีก 25 จังหวัดมีอัตราการไม่รู้หนังสือระหว่าง 1-5% อย่างไรก็ตาม ยังคงมีจังหวัดที่น่าเป็นห่วงอยู่ 1 จังหวัด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีอัตราการรู้หนังสือยังไม่ถึง 90% หรือมีอัตราการไม่รู้หนังสือสูงกว่า 10%

สำหรับข้อมูลอัตราการไม่รู้หนังสือจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้รับการศึกษามีอัตราการไม่รู้หนังสือสูงที่สุดถึงร้อยละ 35.73 รองลงมาคือกลุ่มก่อนประถมศึกษา ร้อยละ 4.72 และกลุ่มประถมศึกษา ร้อยละ 0.89 ส่วนกลุ่มที่ได้รับการศึกษาสูงกว่าประถมศึกษามีอัตราการไม่รู้หนังสือเพียงร้อยละ 0.07
เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้ประกอบอาชีพมีอัตราการไม่รู้หนังสือสูงสุดที่ร้อยละ 3.95 รองลงมาคือกลุ่มรับจ้างทั่วไป/อาชีพไม่แน่นอน ร้อยละ 0.70 และกลุ่มทำการเกษตร ร้อยละ 1.06
ขณะที่การจำแนกตามรายได้ของครัวเรือน พบว่า กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,606 บาทต่อเดือน มีอัตราการไม่รู้หนังสือสูงสุดที่ร้อยละ 3.37 ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ 30,001 บาทขึ้นไป มีอัตราการไม่รู้หนังสือต่ำที่สุดที่ร้อยละ 0.50
นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการไม่รู้หนังสือในกลุ่มผู้หญิง (ร้อยละ 1.35) สูงกว่าในกลุ่มผู้ชาย (ร้อยละ 0.95) เล็กน้อย
นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า จากข้อมูลการสำรวจนี้ หากนำไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่ได้สำรวจไว้ในปี 2022 และนำข้อมูลของไทย ณ ปัจจุบันไปเทียบเคียง คาดการณ์ว่าประเทศไทยน่าจะก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน จากเดิมที่อยู่ในอันดับตามหลังมาเลเซียและสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่แต่ละประเทศทำการสำรวจด้วย ซึ่ง สกศ. ได้มีการหารือในประเด็นนี้กับผู้แทนยูเนสโกแล้ว และทางยูเนสโกจะพยายามนำข้อมูลของไทยเข้าสู่ฐานข้อมูลให้ทันภายในปีนี้ ซึ่งหากดำเนินการได้สำเร็จ เชื่อมั่นว่าอันดับทางการศึกษาของไทยในดัชนีความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาที่จัดทำโดยสถาบัน IMD จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน
ทาง เลขาธิการ สกศ. มองว่านี่คือจุดแข็งของการศึกษาไทยในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่อยู่ในระดับน่าพอใจ สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น

ข้อเสนอเชิงนโยบาย
1. การสร้าง Active Ageing ผ่านการรู้หนังสืออย่างมีส่วนร่วมจะช่วยทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ความมั่นคงในชีวิต และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนสูงวัย
2. การส่งเสริมการรู้หนังสือที่เพิ่มมากขึ้นต้องสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมการอ่านตามความสนใจและต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
3. การประยุกต์ใช้ AI รวมทั้งการจัดทำสื่อที่ทันสมัยและน่าสนใจ จะช่วยทำให้ประชากรในทุกช่วงวัยได้มีโอกาสพัฒนาการอ่านได้ดีมากยิ่งขึ้น
4. การส่งเสริมให้ประชากรที่ว่างงานมีงานทำ เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตนเอง และพัฒนาทักษะการอ่านได้ดีมากยิ่งขึ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผลสำรวจ 15 ประเทศท่องเที่ยวที่ปลอดภัยที่สุด ไทยไม่ติดอันดับ
- จัดอันดับ ประเทศเป็นมิตรที่สุดในโลก ‘ไทย’ เซอร์ไพรส์ ไม่ติดอันดับ 1
- กรุงเทพฯ คว้าอันดับ 2 ของโลก เมืองแห่งอาหาร จาก Time Out ไต่จากที่ 6 ปี 67