ฝ่ายค้านขยี้ปมที่ดิน รร.เขาใหญ่ นายก แพทองธาร ทับซ้อน ที่ต้นน้ำ?

ศึกซักฟอกเดือด สส. ประชาชน ขยี้ปมที่ดิน เทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ ทรัพย์สิน นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ส่อทับซ้อน พื้นที่ต้นน้ำ?
เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ถูกจุดประเด็นให้ร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง เมื่อ นายธีรัจชัย พันธุมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร จากพรรคประชาชน (ปชน.) ได้ใช้โอกาสนี้เปิดศึกซักฟอกผู้นำประเทศ โดยพุ่งเป้าไปที่ขุมข่ายธุรกิจ โรงแรมหรู ณ เขาใหญ่ อันเป็นที่ดินในความเกี่ยวข้องกับครอบครัวชินวัตร พร้อมตั้งคำถามถึงคุณสมบัติ ความเหมาะสม และความซื่อสัตย์สุจริตในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายธีรัจชัยกล่าวหาอย่างหนักแน่นว่า น.ส. แพทองธาร มีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและครอบครัวเหนือกว่าประโยชน์ส่วนรวม ขาดความเคารพต่อหลักนิติธรรม และมีลักษณะเลือกปฏิบัติในการใช้กฎหมาย กล่าวคือ มุ่งเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่กลับละเลยการตรวจสอบความผิดของตนเองและพวกพ้อง ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นรูปธรรมคือ การถือครองธุรกิจโรงแรมในพื้นที่เขาใหญ่ ซึ่ง สส. ธีรัจชัย ชี้ว่าเป็นภาพสะท้อนของข้อกล่าวหาเหล่านี้
แกะรอย ‘เทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่’ ในบัญชีทรัพย์สินนายกฯ
จากการอภิปรายของนายธีรัจชัย ได้มีการอ้างอิงถึงบัญชีทรัพย์สินของ น.ส. แพทองธาร ที่ระบุการถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท เทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ โฮเต็ล จำกัด ซึ่งดำเนินกิจการโรงแรมหรูภายใต้ชื่อเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น น.ส. แพทองธาร ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2556 ก่อนจะลาออกเพื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนด 4 แปลง ประกอบด้วย โฉนดเลขที่ 22054, 76046, 76047 และ 76048 ในพื้นที่ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ข้อมูลจากแหล่งข่าวเบื้องต้นที่ถูกนำเสนอ ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันที่ดินผืนนี้อยู่ในความถือครองของ บริษัท พีดี เขาใหญ่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้ บริษัท เทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ โฮเต็ล จำกัด สร้างโรงแรมดำเนินกิจการ โดยมีการเปิดเผยตัวเลขรายได้ของทั้งสองบริษัทรวมกันในปี 2566 ว่าสูงถึง 121,153,222 ล้านบาท

ปมปัญหาที่ดิน จาก ‘นิคมสร้างตนเอง’ สู่ข้อกังขา ‘พื้นที่ต้นน้ำ’
นายธีรัจชัยได้ตั้งข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับที่มาและความชอบธรรมของที่ดินผืนงามนี้ไว้ 2 ประการหลัก คือ
1. รากเหง้าที่ดินนิคมฯ
จากการตรวจสอบย้อนหลัง พบว่าที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงแรม เดิมทีเป็นส่วนหนึ่งของ ‘นิคมสร้างตนเองลำตะคอง’ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อราวปี 2513 เพื่อจัดสรรให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนลำตะคอง ได้มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน โดยจำกัดการถือครองไว้ที่ไม่เกิน 50 ไร่ต่อครอบครัว การเปลี่ยนผ่านจากที่ดินเพื่อผู้ยากไร้มาสู่ที่ตั้งโรงแรมหรูจึงเป็นคำถามที่ต้องพิจารณา
2. เงื่อนงำพื้นที่ต้นน้ำลำธาร
สส. พรรคประชาชน ได้อ้างถึงแผนที่ของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งจัดทำโดย GISTDA ในปี 2558 เพื่อใช้ตรวจสอบการบุกรุกป่าบริเวณเขาใหญ่ โดยชี้ว่าภายในขอบเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง (กรอบสีแดง) ปรากฏพื้นที่สีขาว ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็น ‘พื้นที่ต้นน้ำลำธาร’ (Watershed Area) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2514 พื้นที่ลักษณะนี้ถูกกำหนดให้เป็นเขตสงวนหวงห้าม ไม่ให้มีการเข้าทำประโยชน์ และที่สำคัญคือ ห้ามมิให้ออกเอกสารสิทธิ์ใดๆ ข้อสังเกตนี้จึงนำไปสู่คำถามว่า ที่ดินของโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ฯ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมฯ นั้น รอดพ้นจากข้อจำกัดของพื้นที่ต้นน้ำลำธารมาได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม เพียงหนึ่งวันหลังการอภิปราย (เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568) กรมที่ดินได้ออกเอกสารชี้แจงรายละเอียดเพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยยืนยันถึงความถูกต้องตามกฎหมายของเอกสารสิทธิ์ที่ดินโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ฯ ประเด็นสำคัญที่กรมที่ดินชี้แจง มีดังนี้
มติคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ
กรมที่ดินอ้างว่า คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้มีมติ อนุญาต ให้นิคมสร้างตนเองลำตะคอง นำพื้นที่ที่ถูกกันไว้เป็นเขตต้นน้ำลำธาร มาจัดสรรให้กับราษฎรที่ได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่จริงได้
การออก น.ค. 3 ชอบด้วยกฎหมาย
ด้วยมติดังกล่าว การออกเอกสาร น.ค. 3 (หนังสือแสดงการทำประโยชน์ในเขตนิคมสร้างตนเอง) ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ครอบครองอยู่ จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ ได้มีการกันพื้นที่ประมาณ 33,000 ไร่ ไว้เพื่อการปลูกป่าทดแทนและอนุรักษ์ดินและน้ำแยกต่างหาก
กระบวนการสู่โฉนด
ราษฎรที่เป็นสมาชิกนิคมฯ และได้รับ น.ค. 3 แล้ว สามารถนำหลักฐานดังกล่าวไปยื่นขอออกโฉนดที่ดิน หรือ น.ส. 3 ก. (หนังสือรับรองการทำประโยชน์) ได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งในกระบวนการนี้ ผู้ปกครองนิคมฯ จะต้องเข้าร่วมในการรังวัดและลงนามยืนยันความถูกต้องของ น.ค. 3 ด้วย

ประวัติที่ดินโรงแรม เทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่
สำหรับโฉนดที่ดินทั้ง 4 แปลงที่เป็นที่ตั้งของโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ นั้น กรมที่ดินระบุว่า ได้ออกโดยอาศัยหลักฐาน น.ส. 3 ก. ซึ่ง น.ส. 3 ก. ดังกล่าว ออกมาจากหลักฐาน น.ค. 3 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ที่ดินเหล่านี้ได้ผ่านการซื้อขายเปลี่ยนมือมาหลายทอด ก่อนที่ บริษัท พีดี เขาใหญ่ จำกัด จะเข้ามาซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์ไปเมื่อปี พ.ศ. 2560
กรมที่ดินย้ำว่า ในพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำตะคอง ไม่ได้มีการออกเอกสารสิทธิ์เฉพาะแปลงที่ดินของโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ฯ เท่านั้น แต่มีการออกโฉนดที่ดินและ น.ส. 3 ก. ให้แก่ราษฎรไปแล้วเป็นจำนวนมากถึง 10,165 แปลง
แม้คำชี้แจงจากกรมที่ดินจะดูเหมือนคลายปมข้อกฎหมายไปได้เปลาะหนึ่ง แต่ประเด็นเรื่องที่ดินโรงแรมหรูของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ก็ยังคงถูกจารึกไว้ในฐานะหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการซักฟอกรัฐบาลครั้งนี้
กระทั่งล่าสุด ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ สส. บัญชีรายชื่อ ดาวเด่นจากพรรคก้าวไกล ตั้งป้อมแถลงข่าวสดๆ ร้อนๆ เมื่อ 25 มีนาคม 2568 จี้ตรงไปยัง ‘กรมที่ดิน’ ให้ตอบคำถามคาใจสังคม กรณีมติคณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติ ที่ดูเหมือนจะมี ‘สถานะพิเศษ’ เหนือกว่ามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ อย่างไร?
ประเด็นสำคัญที่ ‘วิโรจน์’ ขีดเส้นใต้ คือ ศักดิ์และสิทธิ์ของกฎหมายในการออกเอกสารสิทธิ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อาจเป็น ‘ต้นน้ำลำธาร’ ซึ่งตามมติคณะกรรมการฯ ดังกล่าว ระบุชัดว่าให้เพียง ‘สิทธิครอบครอง’ มิใช่ ‘กรรมสิทธิ์’ คำถามตัวใหญ่ที่ สส. ปากกล้า ตั้งขึ้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องความถูก-ผิดทางกฎหมาย แต่คือ “โฉนดที่ดินแปลงนั้น งอกออกมาได้อย่างไร?” พร้อมทิ้งท้ายทวงถามความรับผิดชอบจากนายกรัฐมนตรี ที่ยังคงนิ่งเงียบ ไม่ตอบคำถามสังคม และไม่ชี้แจงในสภาฯ ให้สิ้นสงสัย

อ้างอิงข้อมูลจาก Creden Data และเว็บไซต์ สำนักข่าวอิศรา เผยให้เห็นโครงสร้างการถือครองที่ซับซ้อน แบ่งเป็น 2 บริษัทหลัก ซึ่งมีรายได้รวมกันกว่า 121 ล้านบาท ในปี 2566
1. บริษัท พีดี เขาใหญ่ จำกัด (เจ้าของที่ดิน)
– จดทะเบียนปลายปี 2560 ทุนแน่น 207 ล้านบาท ตั้งออฟฟิศ ณ ชินวัตรทาวเวอร์ 3
– กรรมการ ‘พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์’ (พี่สาวนายกฯ) และ ‘อุดมศักดิ์ โง้วศิริ’ (ขุนพลธุรกิจเครือข่ายชินวัตร)
– ‘แพทองธาร’ เพิ่งถอนตัวจากตำแหน่งกรรมการเมื่อ 11 มกราคม 2568 ก่อนหน้า ‘วิโรจน์’ เปิดประเด็นไม่นาน
– ผู้ถือหุ้นใหญ่ (เม.ย. 67) คือ ‘คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์’ กุมสัดส่วนเกือบเบ็ดเสร็จ 99.9999% ขณะที่ ‘พินทองทา’ และ ‘แพทองธาร’ ถือครองในเชิงสัญลักษณ์คนละ 1 หุ้น
– ผลประกอบการปี 2566 รายได้ 9.1 ล้าน กำไรสุทธิ 7.3 แสนบาท
2. บริษัท เทมส์ วัลลี่ย์ เขาใหญ่ โฮเต็ล จำกัด (ผู้บริหารโรงแรม)
– จดทะเบียนปี 2556 ทุนหนา 400 ล้านบาท ที่ตั้ง ณ ตัวโรงแรมใน ต.หมูสี ปากช่อง
– กรรมการ ชุดเดียวกับ บจก.พีดี เขาใหญ่ คือ ‘พินทองทา’ และ ‘อุดมศักดิ์’
– การจัดการหุ้น หุ้นเกือบ 20 ล้านหุ้นของ ‘แพทองธาร’ ถูกโอนให้ บลจ.เกียรตินาคินภัทร จัดการแทน ตั้งแต่ 19 พฤศจิกายน 2567 ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ว่าด้วยการจัดการหุ้นของรัฐมนตรี
– ผู้ถือหุ้น (พ.ย. 67) คือ ‘พินทองทา’ ถือ 50%, บลจ.เกียรตินาคินภัทร (ในนาม ‘แพทองธาร’) ถือ 50%
– ผลประกอบการปี 2566 แม้รายได้ทะลุ 111 ล้านบาท แต่กลับ ‘ขาดทุนสุทธิ’ เกือบ 13 ล้านบาท
– บริษัทนี้เคยรับงานจากหน่วยงานรัฐ 4 โครงการ มูลค่ารวม 2.1 แสนบาท ในช่วงปีงบประมาณ 67-68
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สรุปอภิปราย “บิ๊กป้อม” เปิดฉากซักฟอกรัฐบาล ได้ประโยชน์อะไรบ้าง
- กรมที่ดินโต้ บิ๊กป้อม ปัด นายกฯ แทรกแซงเพิกถอนที่ธรณีสงฆ์
- ประวัติ “ลิซ่า ภคมน” สส.หญิงแกร่ง ปชน. ดีกรีอดีตผู้สื่อข่าว Voice TV