รวบบอส ‘ตู้เติมเงินเคธี่ปั่นสุข K4’ หลอกลงทุนแชร์ลูกโซ่ เงินหมุนเวียน 400 ล้าน

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จับกุม 2 ผู้ต้องหา หลอกเหยื่อลุงทุนแชร์ลูกโซ่ ตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข K4 พบเงินหมุนเวียนกว่า 400 ล้านบาท ยึดของกลางกว่า 50 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ตั้งโต๊ะแถลงข่าวการจับกุมและตรวจยึด ‘ตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข K4’ และร่วมกันจับกุม นางสาวเร (นามสมมุติ) อายุ 45 ปี และนางสาวพอ (นามสมมุติ) อายุ 30 ปี โดยแจ้งข้อหา“ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน,ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พร้อมตรวจยึดของกลางจำนวน 413 รายการ รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 50 ล้านบาท มีรายการมีทรัพย์สินที่ตรวจยึด ดังนี้
1. รถยนต์ จำนวน 11 คัน
- รถยนต์ตู้ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น อัลพาร์ด จำนวน 2 คัน
- รถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิ้ลยู จำนวน 6 คัน
- รถยนต์ยี่ห้อซูซุกิ จำนวน 1 คัน
- รถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อฮาวาลจำนวน 1 คัน
- รถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อเนตะ จำนวน 1 คัน
2. ตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข จำนวน 258 ตู้
3. กระเป๋าแบรนด์เนม จำนวน 4 ใบ
4. เครื่องประดับ จำนวน 28 รายการ
5. ที่ดินในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี จำนวน 4 แปลง
6. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 20 เล่ม
7. สมุดเช็ค จำนวน 14 เล่ม
8. คอมพิวเตอร์/โน๊ตบุ๊ค จำนวน 20 เครื่อง
9. โทรศัพท์มือถือ จำนวน 16 เครื่อง
10. เอกสารต่างๆ จำนวน 42 รายการ
11. เงินสด จำนวน 150,000 บาท

ย้อนกลับไปในเดือนธันวาคม 2567 มีผู้เสียหายจำนวน 61 ราย เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีกับ ‘บริษัท ปันสุข555 จำกัด’ และ ‘บริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด’ โดยมี นางสาวเร และนางสาวพอ (นามสมมุติ) เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและมีการชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนธุรกิจซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในนามซิมการ์ดโทรศัพท์ระบบเติมเงิน ใช้ชื่อว่า ‘Sim K4’ และตู้เติมเงิน ‘ตู้เคธี่ปันสุข’ ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์ เติมเงินวอลเล็ต ชำระบิลค่าน้ำ และค่าไฟฟ้า

มีการเสนอแพ็คเกจการลงทุนธุรกิจ ดังนี้ หากลงทุนเงิน 50,000 บาท จะได้รับผลตอบแทนสูงสุด 150,000 บาท ในระยะเวลา 500 วัน คิดเป็นร้อยละ 219 ต่อปี และถ้ามีการขยายศูนย์ตัวแทนจำหน่ายตามจัดหวัดอื่น ๆ โดยการจัดการอบรมสัมมนาเพื่อชักชวนให้ร่วมลงทุน
ถ้าบุคคลใดสามารถชักชวนดีลเลอร์หรือหาสมาชิกใหม่ได้ จะได้รับส่วนแบ่งสูงสุดร้อยละ 50 ของค่าสมัคร สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนต้องสมัครสมาชิกผ่านเว็บไซต์ และโอนเงินลงทุนผ่านระบบคิวอาร์โค้ด

ในช่วงต้นผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจริงจึงมีผู้เสียหายหลงเชื่อและเข้าร่วมลงทุนจำนวนมาก จากนั้นในเดือนตุลาคม 2567 มีสมาชิกเริ่มไม่ได้รับผลตอบแทน ได้มีการพยายามติดตามทวงถาม แต่ผู้ต้องหากลับบ่ายเบี่ยงมาเรื่อย ๆ สุดท้ายจึงได้รวมตัวกันมาร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา มูลค่าความเสียหายเป็นเงินจำนวน 27,557,701 บาท

การสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่า การลงทุนของบริษัทดังกล่าวเป็นการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงเกินกว่าที่สถาบันการเงินตามกฎหมายจะจ่ายได้ เมื่อตรวจสอบพบว่า ธุรกิจตู้เติมเงินเคธี่ปันสุขไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจระบบชำระเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย
จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า กลุ่มผู้ต้องหาใช้วิธีรับเงินลงทุนและจ่ายผลตอบแทนผ่านระบบเพย์เมนต์เกตเวย์ มีเงินหมุนเวียนในบัญชีบริษัทผู้ต้องหากว่า 400 ล้านบาท และ นางสาวเริงฤดีฯ ได้ยักย้ายถ่ายโอนแปรสภาพเงินเป็นทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 กก.4 บก.ปอศ. ได้เปิดปฏิบัติการ ‘ตัดวงจรแชร์ลูกโซ่ตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข K4’ มีการตรวจค้นจำนวน 4 จุด ในพื้นที่เขตคันนายาวและเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร พบว่า บริษัทผู้ต้องหามีพนักงานประมาณ 15 คน มีห้องจัดสัมมนาสำหรับชักชวนผู้ลงทุน มีการสต๊อคตู้เติมเงินเคธี่ปันสุขเพื่อใช้ในการจูงใจให้มีการลงทุน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการทดสอบเบื้องต้นพบว่าไม่สามารถใช้งานได้จริงตามที่โฆษณา จึงได้ทำการตรวจยึดพยานเอกสารซึ่งใช้เป็นหลักฐานประกอบการสอบสวน และตรวจยึดทรัพย์สินต่าง ๆ พร้อมทั้งจับกุมผู้ต้องหานำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป




อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ฝีแตกอีกเจ้า อีซ้อ แฉ ธุรกิจตู้เติมเงินเจ้าดัง เตรียมปิดตำนาน พบนักร้องดังมีเอี่ยวด้วย
- ปิดตำนาน ตู้เติมเงิน หน้าร้านเซเว่น ใช้ได้ถึงสิ้นเดือนนี้
- คลิปรวบ พ่อค้ายานรกหัวหมอ ตระเวนแปะยาไอซ์หน้าตู้เติมเงิน ร้านสะดวกซื้อ
ติดตาม The Thaiger บน Google News: