แม่เดือด ไส้ติ่งแตกไม่เย็บแผล ลั่นอยากตบพยาบาล หมอแห่อธิบาย ทำถูกแล้ว

กำลังเดือดในโลกออนไลน์ คุณแม่รายหนึ่งได้ออกมาโพสต์โวยโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง เไม่พอใจที่ลูกชายไส้ติ่งแตกทางโรงพยาบาลไม่เย็บแผลให้ ต้องงดอาหารเป็นอาทิตย์
ข้อความในโพสต์ระบุว่า “เข้มแข็งขนาดไหนมันก็ต้องอ่อนแออยู่ดี เมื่อมาเห็นลูกในสภาพที่ซูบผอมอิดโรยแบบนี้ น้ำตาไหล หลบสายตาลูกแทบไม่ทัน กูเข้าใจเคสที่ญาติคนไข้ตบพยาบาลก็ตอนนี้แหละ อยากทำเหมือนที่ผู้ชายคนนั้นทำเหมือนกัน ฟังคุณหมอพูดจนจบ พอเราถามกลับมาตอบไม่ทันจบแล้วเดินหนี โยนกันไปมา บ่ายเบี่ยงที่จะตอบ
พูดแต่จะเจาะคอลูกเราเพื่อให้อาหาร แม่ตกลงมั้ย กูไม่ให้ลูกเจ็บไปกว่านี้แล้ว แค่นี้ใจก็สลายแล้ว ลูกเราผ่าตัดไส้ติ่งแตก
ลากมาเป็นอาทิตย์งดน้ำงดอาหาร น้องไม่เย็บแผลที่ผ่า พอรู้ว่าเราไป เย็บแผลและให้น้องจิบน้ำ เป็นอะไรที่ข้องใจ ถามไปคำตอบก็ไม่ชัดเจน #ทำเรื่องพาลูกกลับรักษาต่อบ้านเรา พอแล้วเมืองหลวง”
ต่อมาเพจ “Drama-addict” ได้โพสต์อธิบายถึงแผลผ่าตัด กล่าวว่า “ไส้ติ่งแตก แผลจะไม่เย็บทันที ต้องเปิดแผลไว้ก่อน แล้วทำแผลเรื่อยๆ ป้องกันการติดเชื้อ ถ้าติดเชื้อขึ้นมาเรื่องใหญ่ จะเกิดการอักเสบในช่องท้อง อันตรายถึงตายได้
และการให้กินอาหาร ต้องค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากอาหารเหลว อาหารอ่อนตามลำดับ ยิ่งเป็นไส้ติ่งแตกยิ่งต้องระวัง ถ้ารีบกิน ไส้ทะลุ ตายได้นาจา”
ล่าสุด โพสต์เพิ่มเติมว่า “เพิ่มเติมข้อมูลเรื่องดราม่าไส้ติ่งแตก ประเด็นที่แม่เขาคงไม่ทราบ เพราะถ้าทราบคงไม่มีดราม่านี้
1. ไส้ติ่งแตก เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบในไส้ติ่ง แล้วไส้ติ่งที่เน่า บวมเป่ง แตกออก จนขี้จากในลำไส้ ไปกระจัดกระจายอยู่ในช่องท้อง ซึ่งจะทำให้ช่องท้องเกิดการอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตได้หากรักษาไม่ทัน
2. แผลการผ่าตัดไส้ติ่ง ปรกติถ้าเป็นไส้ติ่งทั่วไป ก็มักจะแผลเล็กๆ แบบที่คนเคยเห็นกันส่วนมาก แต่ถ้าไส้ติ่งแตก แผลผ่าตัดจะใหญ่มาก หมอต้องเปิดช่องท้องเข้าไปล้างขี้ล้างเศษอาหารในช่องท้องออกมา และมักจะไม่ปิดแผลทันที ต้องเปิดแผลไว้ก่อน (แต่หมอเย็บพวกเยื่อบุช่องท้อง กล้ามเนื้อ อะไรพวกนั้นหมดแล้วนะ แค่แผลด้านนอกที่เปิดไว้) และใส่ท่อระบายเอาพวกเชื้อโรคของสกปรกที่ยังอาจหลงเหลือในช่องท้องออกมา จากนั้นพอมั่นใจว่าแผลสวย สะอาด ไม่ติดเชื้อ และในช่องท้องโอเคไม่มีการอักเสบแล้ว หมอจึงจะเย็บปิดแผล
3. ในบางกรณีไส้ติ่งแตกที่เน่ามากๆ อาจมีปัญหาไปถึงลำไส้ ต้องมีการเย็บซ่อมแซมลำไส้ด้วย กรณีแบบนี้จึงต้องงดน้ำงดอาหารไปก่อน จนกว่าหมอจะบอกให้กินได้ เพราะถ้ารีบไปกินอาหาร ทั้งที่เพิ่งเย็บซ่อมไส้ทะลุมาหมาดๆ อาจจะไส้ทะลุอีกรอบจนเสี่ยงตายได้
4. หากมีข้อสงสัยใดๆเรื่องการรักษา กรุณาถามหมอหรือพยาบาล จะได้คำตอบที่ชัดเจนนะครัช”
ด้าน เพจเฟซบุ๊ก “หมอเจด” นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมา ได้โพสต์ข้อความอธิบายความรู้เกี่ยวกับการรักษา “ไส้ติ่งแตก” อธิบายสาเหตุที่ไม่เย็บแผลว่า “…ทำไมไส้ติ่งแตก ถึงเย็บแผลไม่ได้ ดังนี้
1.ในการผ่าตัดเกี่ยวกับช่องท้องและการผ่าตัดทางศัลยกรรม เราจะแบ่งแผลผ่าตัดออกเป็นทั้งหมด 4 อย่างด้วยกัน ซึ่งการแบ่งแผลออกเป็น 4 อย่างเพื่อให้หมอที่ผ่าตัดเตรียมการเรื่องของการติดเชื้อรวมไปถึงการให้ยาฆ่าเชื้อหลังผ่าตัดและก่อนผ่าตัดได้อย่างดี อันแรกเลย ก็คือ แผลแบบ Clean Wound ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือแผลแบบนี้ บางครั้งให้ยาฆ่าเชื้อก่อนผ่าตัดแค่หนึ่งเข็มเท่านั้นและหลังผ่าตัดอาจจะไม่ต้องให้เลย เช่นผ่าตัดไส้เลื่อน ผ่าตัดไทรอยด์ หรือเป็นการผ่าตัดแบบใส่อุปกรณ์เทียม เช่นเปลี่ยนข้อสะโพก เปลี่ยนข้อเข่า หรือเสริมจมูกเสริมนม
ส่วนอันที่ 2 และ 3 ก็จะเป็นการผ่าตัดในช่องท้อง เช่น ตัดมดลูกหรือตัดตับถุงน้ำดี ก็จะเป็นแบบที่เรียกว่าชนิดที่ 2 ซึ่งไม่มีการติดเชื้อมากเท่าไร แล้วถ้าเป็นแบบ 3 ก็คือเป็นการผ่าตัดที่เรียกว่าเกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร เช่นผ่าตัดลำไส้ใหญ่ ผ่าตัดกระเพาะอาหาร แต่เป็นการผ่าตัดแบบนัดมาผ่าตัดไม่ใช่การผ่าตัดแบบฉุกเฉิน ซึ่งทั้งแบบ 2 และแบบ 3 ก็มีความเสี่ยงมากกว่าแบบ 1 ครับ
2.คราวนี้ไส้ติ่งแตกถือว่าเป็นแบบที่เรียกว่า แผลสกปรกเลย Dirty wound ซึ่งจริง ๆ แล้วนอกจากไส้ติ่งแตกก็ยังมี ไส้แตกจากการโดนยิงหรือการโดนแทงแล้ว มีขี้ออกมาเต็มท้อง หรือบางคนก็เป็นกระเพาะอาหารทะลุแล้วมีเศษอาหารออกมาเต็มท้อง พวกนี้ความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทั้งในช่องท้องและบริเวณแผลผ่าตัดสูงมาก การให้ยาฆ่าเชื้อหลังการผ่าตัด มักจะใช้เวลาประมาณเจ็ดถึง 14 วัน ในกรณีที่ไม่มีปัญหาแต่ถ้ามีปัญหาก็อาจจะนานกว่านั้นได้
3.คราวนี้เรื่องของไส้ติ่งแตกทำไมไม่เย็บแผล เหตุผลเพราะว่า ข้อที่หนึ่ง เป็นการเปิดให้หนองหรือสิ่งสกปรกที่อยู่ในช่องท้องได้ระบายออกมา ซึ่งอันนี้ถือว่าจำเป็นไม่ว่าจะเป็นการใส่สายระบาย หรือให้ออกมาทางบาดแผลที่ไม่ได้เย็บ ข้อที่สอง ถ้าเราเย็บแผลก็จะทำให้หนองหรือสิ่งสกปรกออกมาสู่ภายนอกไม่ได้ก็จะตามมาด้วยการเป็นเป็นฝีบริเวณที่เราทำการผ่าตัดและติดเชื้อรุนแรง
ข้อที่สาม ฝีหรือหนอง มันต้องหาทางไปให้ได้ถ้าออกมาข้างนอกไม่ได้ก็จะไหลลงไปในช่องท้องซึ่งตามด้วยเรื่องของการที่เป็นเยื่อเบื่ช่องท้องติดติดเชื้ออีกหนึ่งครั้งแล้วต้องรักษาด้วยการผ่าตัดใหม่ ข้อที่สี่ แบคทีเรียที่บริเวณไส้ติ่งแตกเป็นแบคทีเรียชนิดแบบไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งการที่เราเปิดให้มีอากาศโดนบริเวณแผลผ่าตัดจะทำให้แบคทีเรียกลุ่มนี้เสียชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นผลดีมาก ๆ

4.ไม่ได้แปลว่าไม่ได้เย็บแผลหลังผ่าตัดจะแปลว่าเราไม่ต้องเย็บแผลอีกเลยในอนาคต ซึ่งการที่เราทำแบบนี้เรียกว่า Delay Primary Suture หรือการชะลอการเย็บแผลผ่าตัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไข้และให้เกิดอันตรายกับเขาให้น้อยที่สุดอีกหนึ่งครั้ง โดยปกติแล้วเรามักจะเย็บแผลหลังจากการผ่าตัดประมาณ 3-7 วันถ้าไม่เกิดปัญหาอะไร
5.ส่วนเรื่องการให้กินช้ากินเร็ว สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกกับทุกคนก็คือว่าไส้ติ่งมันคืออวัยวะที่ยื่นออกมาจากตรงบริเวณผนังลำไส้ ซึ่งการที่ไส้ติ่งแตกไม่ได้แปลว่ามันจะแตกตรงปลายเสมอไป มันอาจจะมีการแตกบริเวณโคนของไส้ติ่งซึ่งติดกับผนังลำไส้ ซึ่งกรณีนี้ในการผ่าตัดบางครั้งอาจจะต้องตัดลำไส้บางส่วนออกไปแล้วทำการเย็บแผล ซึ่งถ้าต้องตัดลำไส้ออกไปแล้วแล้วเย็บแผลอาจจะต้องงดน้ำงดอาหารนานมากกว่าปกติ บางคนอาจงด 5-7 วัน เพราะกังวลว่าถ้าคนไข้รีบรับประทานอาจจะทำให้เกิดเรื่องของลำไส้รั่วได้ ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เจอได้ปกติและเป็นความปลอดภัยของคนไข้
6.อยากฝากบอกกับคุณแม่และทุกๆคนด้วยครับ อย่าไปอยากตบนางพยาบาลเลย เพราะจริง ๆ แล้วคุณพยาบาลทุกคนทำงานตามคำสั่งของคุณหมอผ่าตัดครับ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าให้ไปตบคุณหมอนะครับ อยากให้ใจเย็น ๆ และอยากให้ฟังด้วยเหตุผล คิดว่าคงไม่มีใครอยากจะแกล้งคนไข้หรือทำร้ายคนไข้ให้หิวหรอกครับ ส่วนใหญ่แล้วเราเองก็อยากจะให้คนไข้รีบกลับบ้าน แบบปลอดภัยแล้วก็ครบ 32 ครับ