“ปฏิรูปประกันสังคม” นักวิชาการ-แรงงานหนุน ออกจากระบบราชการ ดีต่อคนทำงานจริงยังไง

เสนอสปสช. ดูแลรักษาพยาบาลผู้ประกันตน หนุนแยก ประกันสังคม ออกจากระบบราชการ ไปฟังมุมอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มองหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง?
จากกรณี “กลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า” เตรียมเสนอกฎหมายเพื่อแยกประกันสังคมออกนอกระบบราชการแบบเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ด้วยเหตุผลว่า จะสร้างความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนประกันสังคมได้ โดยมีผู้บริหารมืออาชีพและไม่ติดกรอบระเบียบราชการนั้น
ล่าสุด ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. กล่าวเมื่อ 23 ก.พ.2568 ถึงแนวคิดเรื่องการแยกประกันสังคมออกนอกระบบราชการเป็นแนวคิดที่ดีซึ่งทางสหภาพแรงงานได้เรียกร้องมาอย่างยาวนาน ด้วยเหตุนี้การขับเคลื่อนเรื่องนี้ท่ามกลางฉันทมติของประชาชนที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูประบบประกันสังคมอยู่ในขณะนี้อาจจะผลักดันได้ง่ายกว่าเรื่องการรวมกองทุน 3 กองทุนเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
ดร.กฤษฎา กล่าวว่า หลักการสำคัญของการแยกประกันสังคมออกมาคือความเป็นอิสระขององค์กร ซึ่งสามารถดำเนินการผ่านกระบวนการหรือวิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ที่จะต้องตอบโจทย์และเป็นตัวแทนทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
อีกทั้งจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบ กำกับติดตามการทำงาน โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ส่วนรูปแบบองค์กรจะเป็นองค์การมหาชน หรือเป็นหน่วยที่จัดตั้งขึ้นโดยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คงเป็นเรื่องที่พูดคุยกันต่อได้ในรายละเอียดอีกทีได้
ส่วนกรณีคำถามและมีความกังวลว่า การแก้ไขเพิ่มเติม ‘ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม’ ที่ได้เสนอไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2565 และกำลังจะนำเข้ามาพิจารณา อาจทำให้มีการยกเลิกระบบการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนในบอร์ดประกันสังคมนั้น ดร.กฤษฎา เห็นด้วยว่าสัดส่วนฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนควรมาจากระบบการเลือกตั้งและมากกว่านั้นคือสัดส่วนของผู้ประกันตนควรมีจำนวนมากกว่าสัดส่วนของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายรัฐบาล
ดร.กฤษฎากล่าวต่อไปว่า หากสามารถช่วยกันติดตามให้ตัวแทนฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนยังคงมาจากการเลือกตั้ง และแก้ไขการเพิ่มสัดส่วนฝ่ายผู้ประกันตนให้มากกว่าทั้งสองฝ่ายตามหลักไตรภาคี รวมไปถึงการดำเนินการแยกประกันสังคมออกนอกระบบราชการได้ ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าจะนำมาซึ่งความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการบริหารกองทุนประกันสังคมจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะร่วมกันผลักดันเรื่องการรวมกองทุนเฉพาะส่วนของการรักษาพยาบาลต่อไปในอนาคต ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่และไปไกลกว่าบทบาทและอำนาจของประกันสังคม ที่จะต้องผลักดันให้กลายวาระระดับชาติ โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกรัฐบาล ร่วมมือกับหลายหน่วยงานมากมายที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ในอนาคตควรจะต้องกลับมาพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของประกันสังคม ซึ่งหากถ่ายโอนทั้งหมดไปให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นฝ่ายดูแล จะทำให้สิ่งที่เรียกว่าหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
ขณะที่กองทุนประกันสังคมสามารถนำเงินส่วนต่างที่ไม่ต้องดูแลเรื่องบริการสุขภาพ กว่าปีละ 7 หมื่นล้านบาท ไปเพิ่มเติมสวัสดิการด้านอื่นๆ ให้ผู้ประกันตนแทน เช่น
- นำไปเพิ่มเงินบำเหน็จ-บำนาญชราภาพ ให้มากขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงวัย ให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันในการดูแลตนเองในระดับพื้นฐาน
ถามต่อถึงกรณีที่กฎหมายบังคับให้แรงงาน (ที่มีนายจ้าง) ต้องเข้าระบบประกันสังคม ซึ่งผู้ประกันตนบางส่วนมองว่า ได้สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลน้อยกว่าสิทธิบัตรทองและสิทธิข้าราชการ ด้วยเหตุนี้ควรจะมีการเปิดช่องให้ผู้ประกันตนเลือกได้หรือไม่ว่าจะใช้สิทธิบัตรทองหรือสิทธิประกันสังคม
ดร.กฤษฎา ทิ้งท้ายว่าระบบประกันสังคมไม่ได้ดูแลเพียงแค่การรักษาพยาบาล! แต่ยังมีสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่น “เรื่องการคลอดบุตร” เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เงินชดเชยจากการว่างงาน เงินบำนาญ ฯลฯ ซึ่งเป็นการประกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกันตน สิ่งเหล่านี้ทำให้ทุกประเทศ จึงต้องมี “มาตรการบังคับ” ให้ลูกจ้างเข้าสู่ประกันสังคม
ทั้งนี้ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า อยู่ในขั้นตอนการจัดทำรายละเอียดแนวทางผลักดันให้สำนักงานประกันสังคม เป็นหน่วยงานรัฐ ที่ไม่ได้บริหารผ่านระบบราชการ ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ที่เตรียมเสนอเข้าคณะกรรมการประกันสังคมให้รับทราบ ภายในเดือน มี.ค.นี้
ขณะที่ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี รองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้รณรงค์ด้านรัฐสวัสดิการและเป็นคณะกรรมการประกันสังคม โพสต์เฟซบุ๊กเปิดเผยเนื้อหาให้จับตาดูสูตรบำนาญใหม่ซึ่งจะเข้าบอร์ดประกันสังคมชุดใหญ่วันนี้ (25 ก.พ.) หลังผ่านอนุกรรมการตั้งแต่เดือนตุลาคม ซึ่งหากผ่านจะส่งผลสำคัญต่อบำนาญขอบ ผู้ประกันตน ม.39 กว่า 300,000 คนได้รับบำนาญเพิ่ม.
อ้างอิงข้อมูล : THE STANDARD, ทีมประกันสังคมก้าวหน้า, เฟซบุ๊ก Sustarum Thammaboosadee.

อ่านข่าวเพิ่มเติม
- พิพัฒน์ แจงต่อหน้า รักชนก บอร์ดประกันสังคม สรุปดูงานบ่อย เพราะกลัวลืม
- ยกเลิกประกันสังคม ใช้บัตรทอง 30 บาท ดีไหม? ปลัดแรงงานยันสิทธิรักษา
- เปิดตารางดูงาน ประกันสังคม ทริปหรู First Class บินฉ่ำต่างประเทศได้อะไรบ้าง