ข่าว

เปิดรายชื่อผัก 3 ชนิด อุดมสารลูทีโอลิน ช่วยป้องกันผมหงอก

ขจัดปัญหาที่หลายคนกังวล ‘อาจารย์สุรัตน์’ เปิดรายชื่อผัก 3 ชนิด อุดมสารลูทีโอลิน (luteolin) มีศักยภาพป้องกันผมหงอก หาซื้อง่ายตามท้องตลาด

“ผมหงอก” เป็นปัญหาที่ใครหลายคนไม่อยากเผชิญ โดยเฉพาะกับผู้อายุยังน้อย เส้นผมสีขาวที่แซมขึ้นมาบนศีรษะนำมาซึ่งกังวลใจ จนหลายคนตัดสินใจพึ่งสารเคมี โดยการย้อมผมเพื่อปกปิดเส้นผมสีขาว และเพื่อขจัดความไม่มั่นใจเหล่านั้น แต่แน่นอนว่ายิ่งโกรกผมมากเท่าใด สารเคมีก็ยิ่งเข้าสู่ร่างกายมากเท่านั้น และนั่นจะยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ

Advertisements

ล่าสุด (16 กุมภาพันธ์ 2568) “ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช” หรือ อาจารย์สุรัตน์ แพทย์เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท ได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาผมหงอก ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ หยิบยกงานวิจัยที่เปิดเผยถึง “อาหาร” ที่สามารถป้องกันผมหงอกได้

‘อาจารย์สุรัตน์’ เผยว่า อาหารที่มีศักยภาพในการป้องกันปัญหาผมหงอกก็คือ ผักที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีชื่อว่า ลูทีโอลิน (luteolin) โดยโพสต์ดังกล่าวระบุข้อความไว้ดังนี้

“ผมหงอกฟังทางนี้ งานวิจัยล่าสุดชี้ว่า ลูทีโอลิน (luteolin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในผักบางชนิด อาจมีศักยภาพในการป้องกันผมหงอก

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Antioxidants ได้ทดลองกับหนูที่ถูกออกแบบให้มีผมหงอกเมื่ออายุมากขึ้น นักวิจัยได้ทดสอบสารต้านอนุมูลอิสระสามชนิด ได้แก่ เฮสเพอเรทิน ไดออสมิติน และลูทีโอลิน พบว่าเฉพาะลูทีโอลินเท่านั้นที่สามารถลดการเกิดผมหงอกในหนูได้

Advertisements

หนูที่ได้รับการรักษาด้วยลูทีโอลินทั้งภายใน (รับประทาน) และภายนอก (ทาบนผิวหนัง) ทุกวันเป็นเวลา 16 สัปดาห์ แสดงให้เห็นว่ามีผมหงอกน้อยลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษา

นักวิจัยสันนิษฐานว่าลูทีโอลินช่วยแก้ไขปัญหาการส่งสัญญาณระหว่างเอนโดทีลินส์ในเซลล์ต้นกำเนิดเคราติโนไซต์และตัวรับในเซลล์ต้นกำเนิดเมลาโนไซต์ ซึ่งนำไปสู่การลดลงของผมหงอก

ผักบางชนิด ช่วยป้องกันผมหงอก
ภาพจาก : สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์

พืชที่มีลูทีโอลินสูงในบ้านเรา

  • พริกเขียวและพริกเผ็ด – รวมถึงพริกหวานสีเขียว
  • ฟักทอง – เป็นแหล่งลูทีโอลินที่ดี และยังให้วิตามินและแร่ธาตุที่ช่วยบำรุงเส้นผม
  • ขึ้นฉ่าย (Celery) – อุดมไปด้วยลูทีโอลินและมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

แม้งานวิจัยยังไม่มีในคน แต่เราก็รับประทานไปได้เลยครับ เพราะมันดีต่อร่างกายด้วย”

ทั้งนี้ สีผมของเราเกิดจากเม็ดสีที่ชื่อว่า เมลานิน (Melanin) ซึ่งผลิตโดยเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte) ที่อยู่ในรูขุมขน เมื่ออายุมากขึ้น เซลล์เมลาโนไซต์เหล่านี้จะทำงานลดลง ทำให้ผลิตเมลานินได้น้อยลง ส่งผลให้เส้นผมที่งอกใหม่มีสีอ่อนลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสีเทา ก่อนจะกลายเป็นสีขาวในที่สุด กระบวนการนี้เป็นไปตามธรรมชาติของร่างกาย และมักเริ่มต้นในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้เร็วกว่านั้นในบางคน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button