เปิดระเบียบ รัฐมนตรีเดินทางไปราชการต่างประเทศ นั่ง First Class ฟรีได้

เปิดดูระเบียบ พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยรัฐมนตรีสามารถนั่งเครื่องบิน First Class พร้อมเบิกจ่ายได้ หากไปดูราชการต่างประเทศตามเกณฑ์
จากกรณี น.ส.รักชนก ศรีนอก สส. กทม. พรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสงสัยเรื่องการใช้งบประมาณของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่ามากจนผิดปกติ ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจคือทริปดูงานต่างประเทศจำนวน 6 วัน 5 คืนของประกันสังคมที่ใช้งบฯ ไปทั้งหมด 2.2 ล้านบาท สำหรับ 10 คน โดยมีข้อมูลค่าใช้จ่ายดังนี้
“ค่าบัตรโดยสาร การเบิกเฟริสคลาส 160,000 บาท 2 คน ราคาตลาดต่างกันเกือบ 60000 บาท ค่าที่พัก 16000 บาท/วัน/คืน คือราคาระดับ 5 ดาวของญี่ปุ่น จำเป็นไหมต้องใช้จ่ายฟุ่มเพือยขนาดนี้ ค่าพาหนะในการเดินทางต่างประเทศ 35000 บาท ต่อคน”
ล่าสุด (17 ก.พ.) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงประเด็นข้างต้นว่าเป็นเรื่องที่มีระเบียบและเกณฑ์ปฏิบัติตามกฏหมายอยู่แล้ว พร้อมยืนยันว่าไม่มีการกระทำนอกเหนือจากระเบียบดังกล่าวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ตามพระราชกฤษฎีกา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 9 พ.ศ. 2560) ระบุสาระสำคัญที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 22 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการกําหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินบางประเภทตามงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2518 ว่า
“ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ทางราชการจ่ายให้แก่ผู้เดินทางไปปฏิบัติงานนอกท้องที่ที่ปฏิบัติงานตามปกติ และเกิดค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทาง เพื่อมิให้ผู้เดินทางเดือดร้อน ค่าใช้จ่ายที่ทางราชการจ่ายให้จะเป็นรายจ่ายที่จำเป็นซึ่งเกิดขึ้นในการเดินทาง เงินที่ทางราชการจ่ายให้นี้มิใช่ค่าตอบแทนในการทำงาน แต่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อให้เดินทางไปปฏิบัติราชการ”
ขณะที่สิทธิการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ 1.ผู้เดินทางไปราชการมีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้เดินทาง 2. กรณีผู้เดินทางไปราชการมีความจำเป็นต้องเดินทางล่วงหน้าหรือไม่สามารถเดินทางกลับหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติราชการ เพราะเหตุส่วนตัว
ทั้งนี้ ได้รับอนุมัติให้ลากิจหรือลาพักผ่อน และได้รับอนุมัติให้เดินทางสำหรับช่วงเวลาดังกล่าว มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการเมื่อมีการปฏิบัติตามคำสั่งทางราชการแล้ว ผู้มีสิทธิเบิก ได้แก่ 1.ข้าราชการ 2. ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างจากเงินงบประมาณรายจ่าย 3.พนักงานราชการ 4. บุคคลภายนอกโดยมาตรา 53 แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2560 กำหนดว่า การเดินทางไปราชการโดยเครื่องบิน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
การเดินทางไปราชการต่างประเทศโดยเครื่องบินจากประเทศไทยไปต่างประเทศหรือจากต่างประเทศกลับประเทศไทย หรือการเดินทางในต่างประเทศ สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ ให้เดินทาง “โดยชั้นหนึ่ง” ได้แก่
(1) หัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาล
(2) ประธานรัฐสภา และรองประธานรัฐสภา
(3) ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภภา
(4) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
(5) รัฐมนตรี
(6) ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง หรือตำแหน่งที่เทียบเท่า สมุหราชองครักษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ส่วนการเดินทางในต่างประเทศที่มีระยะเวลาในการเดินทาง ตั้งแต่ 9 ชั่วโมงขึ้นไป ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ชั้นหนึ่ง สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ได้แก่ รองปลัดกระทรวง ผู้ตรวจราชการ อธิบดี หรือตำแหน่งที่เทียบเท่า ผู้ว่าราชการจังหวัด เอกอัครราชทูต หรือตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ หรือตำแหน่งที่เทียบเท่า หรือข้าราชการทหารซึ่งมียศพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก พลโท พลเรือโท พลอากาศโท หรือข้าราชการตำรวจซึ่งมียศพลตำรวจเอก พลตำรวจโท
(2) ชั้นธุรกิจหรือชั้นระหว่างชั้นหนึ่งกับชั้นประหยัด สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง หรือตำแหน่งที่เทียบเท่า หรือข้าราชการทหารซึ่งมียศพลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี หรือข้าราชการตำรวจซึ่งมียศพลตำรวจตรี
(3) ชั้นประหยัด สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ชั้น หรือยศ นอกเหนือจากที่ระบุใน (1) และ (2) ในกรณีผู้เดินทางตาม (2) มีความจำเป็นต้องโดยสารเครื่องบินในชั้นที่สูงกว่าสิทธิ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่เดินทางดังกล่าวสามารถเดินทางและเบิกค่าโดยสารเครื่องบินในขั้นที่สูงกว่าสิทธิได้ โดยต้องได้รับอนุมัติจากปลัดกระทรวงเจ้าสังกัด ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สมุหราชองครักษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำหรับส่วนราชการใดที่ไม่มีปลัดกระทรวงให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจเช่นเดียวกับปลัดกระทรวงเป็นผู้อนุมัติ

ขณะที่การเดินทาง “ที่ต่ำกว่า 9 ชั่วโมง” จะเป็นการเดินทางด้วยชั้นธุรกิจ สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ได้แก่ รองปลัดกระทรวง ผู้ตรวจราชการ อธิบดี หรือตำแหน่งที่เทียบเท่า ผู้ว่าราชการจังหวัด เอกอัครราชทูต หรือตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ หรือตำแหน่งที่เทียบเท่า หรือข้าราชการทหารซึ่งมียศพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก พลโท พลเรือโท พลอากาศโท หรือข้าราชการตำรวจซึ่งมียศพลตำรวจเอก พลตำรวจโท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เลขาฯ ประกันสังคม แจงใช้งบบริหารปีละไม่ถึง 3% ยันทำตามเกณฑ์ชัดเจน
- สั่งเร่งแจง งบประกันสังคม-รายจ่ายเพิ่ม พีค! สายด่วน 1506 งบ 100 ล้านโทรไม่เคยติด
- สส.ไอซ์ แฉงบประกันสังคม ไฟเขียว 7 พันล้านซื้อตึกร้าง ช่วยใครหรือไม่?