ข่าวอาชญากรรม

สยอง ตำรวจ-อย. ทลายโรงงานสำลีเถื่อน ส่งขาย รพ. ทั่วประเทศ พบ 2 ยี่ห้อดัง

ด่วน! ตำรวจ อย. บุกทลายโรงงานสำลีเถื่อน ส่งขาย รพ. ทั่วประเทศ เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต พบของกลาง 2 ยี่ห้อดัง

10 กุมภาพันธ์ 2568, กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) – ปฏิบัติการเด็ดขาด ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บุกทลายโรงงานลักลอบผลิตสำลีฆ่าเชื้อเถื่อนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี หลังสืบทราบว่ามีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานให้กับโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้ป่วยถึงชีวิต

Advertisements

พล.ต.ต. พัฒนศักดิ์ บุปผาสุวรรณ รักษาราชการแทนผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค รรท.ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ปฏิบัติการครั้งนี้สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับเรื่องร้องเรียนว่า มีการลักลอบผลิตสำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% v/v ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการฆ่าเชื้อและทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ แต่กระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด หากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกนำไปใช้ในสถานพยาบาล อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในผู้ป่วย ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต

จากข้อมูลที่ได้รับ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเร่งทำการสืบสวนจนกระทั่งทราบแหล่งผลิตและจัดเก็บสินค้าตั้งอยู่ที่โกดังในตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นำกำลังเข้าตรวจค้นและสามารถยึดของกลางได้รวม 22 รายการ มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท ประกอบด้วย:

  • สำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์ยี่ห้อ “ดาราพลัส” จำนวน 2,830 แผง
  • สำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์ยี่ห้อ “เช็ดดี้ 70%” จำนวน 6,400 ชิ้น
  • สำลีก้อน จำนวน 89 ถุง
  • สำลีชุบแอลกอฮอล์ที่ยังไม่บรรจุภัณฑ์ จำนวน 1 ถัง
  • อุปกรณ์การผลิต เครื่องจักร วัตถุดิบ กล่องบรรจุภัณฑ์ และฉลากจำนวนมาก

พ.ต.อ. วีระพงษ์ คล้ายทอง ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผกก.4 บก.ปคบ.) กล่าวเสริมว่า จากการตรวจสอบพบว่า โรงงานดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตผลิตเครื่องมือแพทย์จาก อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาถือเป็นเครื่องมือแพทย์ปลอม โดยสำลีชุบแอลกอฮอล์ยี่ห้อดังกล่าวมีการแสดงฉลากให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ามีความเข้มข้นของเอทิลแอลกอฮอล์ 70% แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีการนำเอทิลแอลกอฮอล์ 70% มาผสมน้ำเปล่าเพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคลดลงและอาจเกิดการปนเปื้อนได้

จากการสืบสวนขยายผลพบว่า โรงงานดังกล่าวได้กระจายสินค้าไปยังโรงพยาบาล สถานพยาบาล และประชาชนทั่วไป โดยระหว่างเดือนตุลาคม 2567 ถึง มกราคม 2568 มีการผลิตและกระจายสินค้าไปยังสถานพยาบาลต่างๆ กว่า 12 แห่ง รวมจำนวนกว่า 88,000 แผง มูลค่ากว่า 240,000 บาท

เบื้องต้น ผู้ต้องหาจะถูกดำเนินคดีในข้อหาตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฐานความผิดต่างๆ ได้แก่ ไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์, ผลิตเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับใบรับแจ้งรายละเอียด, และผลิตเครื่องมือแพทย์ปลอม โดยรวมให้เข้าใจผิดในเรื่องเครื่องหมายรับรองคุณภาพ

Advertisements

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button