ข่าว

ด่วน! ศาลให้ประกัน พิรงรอง วางหลักทรัพย์ 3 แสน ห้ามออกนอกประเทศ

ศาลอนุญาตให้ประกันตัว พิรงรอง วางหลักทรัพย์ 3 แสน หลังโดนคุก 2 ปี ตั้งเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ ยังทำหน้าที่ กสทช. ต่อไปได้

จากกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีที่ บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ปมแทรกโฆษณา ทรูไอดี ซึ่งหากศาลตัดสินว่า พิรงรอง มีความผิด และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างรออุทธรณ์ จะส่งผลให้พ้นจากตำแหน่ง กรรมการ กสทช. ทันที ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 7 (6) และ (7)

Advertisements

โดยคดีนี้เกี่ยวข้องกับมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดโทษสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาตัดสิน ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต คณะกรรมการ กสทช. มีความผิดอาญาตามมาตรา 157 ข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ชี้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้เสียหาย ให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

ล่าสุดศาลได้อนุญาตให้ประกันตัว ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูตโดยให้วางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 300,000 บาท เพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป พร้อมตั้งเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งนี้การที่ ดร.พิรงรอง ได้รับประกันตัว จะทำให้สามารถทำหน้าที่ กสทช. ต่อไปได้

สำหรับคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากการมีผู้บริโภคร้องเรียนมาที่สำนักงาน กสทช. ในปี 2566 หลังจากได้พบว่าบนแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชัน “ทรู ไอดี” มีการโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งบริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการแอปฯ ทรูไอดีได้นำสัญญาณมาถ่ายทอดในแพลตฟอร์มของตนเอง

ต่อมาคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ได้พิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องดังกล่าว และ สำนักงาน กสทช. ได้ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ให้ตรวจสอบว่ามีการนำช่องรายการที่ได้รับอนุญาตไปออกอากาศผ่านโครงข่ายใดหรือนำไปแพร่ภาพในแพลตฟอร์มใดและให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

Advertisements

ซึ่งเป็นไปตามหลักมัสแครี่ (Must Carry) ที่มีโฆษณาแทรกไม่ได้ แม้หนังสือดังกล่าวไม่ได้ส่งตรงไปยังบริษัท ทรู ดิจิทัลฯ เนื่องจากบริษัทไม่ได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตและไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. แต่บริษัทได้อ้างว่าการออกหนังสือดังกล่าวทำให้ตนเองเสียหาย จึงนำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อการทำหน้าที่ของประธานอนุกรรมการชุดนี้ คือ กสทช. พิรงรอง รามสูต

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Nateetorn S.

ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button