ชี้ชะตา พิรงรอง ศาลตัดสินคดี ทรู ฟ้อง ปมแทรกโฆษณา ทรูไอดี อาจพ้น กสทช.
จับตา ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดฟังคำพิพากษา คดี ทรูดิจิทัล ฟ้อง พิรงรอง ปมแทรกโฆษณา ทรูไอดี พรุ่งนี้ (6 ก.พ.) หากผิดจริง หลุดเก้าอี้ กสทช. ทันที ด้าน “พิรงรอง” ยัน ทำตามหน้าที่ คุ้มครองผู้บริโภค #saveพิรงรอง
จับตาวันพรุ่งนี้ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีที่ บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ปมแทรกโฆษณา ทูรไอดี ซึ่งหากศาลตัดสินว่า พิรงรอง มีความผิด และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างรออุทธรณ์ จะส่งผลให้พ้นจากตำแหน่ง กรรมการ กสทช. ทันที ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 7 (6) และ (7)
โดยคดีนี้เกี่ยวข้องกับมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดโทษสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เหตุการณ์ดังกล่าวจึงไม่เพียงแต่ชี้ชะตา พิรงรอง แต่อาจส่งผลต่อ โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและสื่อของประเทศ เลยทีเดียว
สำหรับผู้ที่ต้องการสนับสนุน #saveพิรงรอง สามารถลงทะเบียนได้ผ่านลิงก์นี้ >> รวมรายชื่อ เพื่อนพิรงรอง สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่กสทช.
ย้อนไทม์ไลน์คดี “ทรู” ฟ้อง “พิรงรอง”
ย้อนกลับไปในเดือนเมษายน 2567 ทรูดิจิทัล เคยยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ พิรงรอง ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในตำแหน่ง กรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา แต่ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ศาลได้ ยกคำร้อง โดยชี้ว่าพิรงรอง ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของทรูดิจิทัล ตามที่กล่าวอ้าง
คดีนี้เป็นมหากาพย์ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2566 ต้นเหตุเกิดจากการร้องเรียนของผู้บริโภค กรณีทรูไอดีแทรกโฆษณาในช่องทีวีดิจิทัล ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยทรูดิจิทัล ในฐานะผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ได้ดึงสัญญาณของช่องเหล่านี้มาออกอากาศบนแพลตฟอร์มของตน
คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ของ กสทช. ได้ตรวจสอบ และเสนอความเห็น จนนำไปสู่การที่สำนักงาน กสทช. ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ให้ตรวจสอบการเผยแพร่ช่องรายการ ผ่านโครงข่ายและแพลตฟอร์มต่าง ๆ และให้ปฏิบัติตามประกาศ มัสต์แครี่ (Must Carry) ที่กำหนดให้ช่องทีวีดิจิทัล ต้องออกอากาศ โดยไม่มีการแทรกโฆษณาเพิ่มเติม
แม้หนังสือดังกล่าวจะไม่ได้ส่งตรงถึงทรูดิจิทัล เนื่องจากบริษัทไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. โดยตรง แต่ทรูดิจิทัล มองว่า คำสั่งนี้กระทบต่อธุรกิจ เพราะอาจทำให้ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ระงับการเผยแพร่ช่องรายการผ่าน ทรูไอดี สร้างความเสียหายให้กับบริษัท จึงเป็นที่มาของการฟ้องร้อง ครั้งนี้
ทรูดิจิทัล อ้างว่า สำนักงาน กสทช. ยังไม่มีระเบียบเฉพาะสำหรับการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม OTT (Over-The-Top) ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิ่งผ่านอินเทอร์เน็ตโดยตรง การที่ กสทช. ออกหนังสือแจ้งไปยังช่องทีวีดิจิทัล จึงส่งผลเสียหายโดยตรงต่อ ทรูดิจิทัล
ด้านศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ยืนยันว่า การดำเนินการของ กสทช. เป็นไปตามหน้าที่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาบนแพลตฟอร์มทรูไอดีและดูแลลิขสิทธิ์ ของผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม โดยยืนยันว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติ และมาตรการที่ออกมา ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อแทรกแซงธุรกิจ OTT
สรุปประเด็น คดี “ทรู ฟ้อง พิรงรอง” แทรกโฆษณาบน “ทรูไอดี”
คดีนี้ จุดกระแส #saveพิรงรอง เดือด เมื่อเครือข่ายนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และกลุ่มผู้บริโภคทั่วประเทศ ต่างออกมาสนับสนุนพิรงรอง พร้อมเปิดแคมเปญล่ารายชื่อ 10,000 คน เพื่อส่งกำลังใจ และเรียกร้องความเป็นธรรม
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรรางศุ ถึงกับโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ถ้าการปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่รับผิดชอบด้วยความสุจริตจะกลายเป็นความผิดทางอาญาแล้วไซร้ ในระยะยาว จะเหลือใครทำงานให้ส่วนรวม
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กรรมการ กสทช. ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ส่งกำลังใจให้ พิรงรอง ยืนหยัดต่อสู้ เพื่อ กสทช.
ด้าน นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง ได้นำเสนอข่าวนี้ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ กรรมกรข่าว ชวนจับตาการพิจารณาคดีดังกล่าว
1. ตัวละครหลัก
- ทรูดิจิทัล : ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม “ทรูไอดี” (ผู้ฟ้อง)
- พิรงรอง รามสูต : กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ (ผู้ถูกฟ้อง)
- กสทช. : คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (หน่วยงานกำกับดูแล)
- สำนักงาน กสทช. : หน่วยงานปฏิบัติภายใต้ กสทช.
- ผู้บริโภค : ผู้ร้องเรียนเรื่องการแทรกโฆษณา
- นักวิชาการ และกลุ่มผู้บริโภค : สนับสนุน “พิรงรอง” (#saveพิรงรอง)
- ธงทอง จันทรรางศุ : ให้ความเห็นเชิงหลักการ
- สุภิญญา กลางณรงค์ : อดีต กสทช. ให้กำลังใจ “พิรงรอง”
- สรยุทธ สุทัศนะจินดา : นำเสนอข่าวนี้
2. ลำดับเหตุการณ์
- ช่วงปี 2566 ผู้บริโภคร้องเรียน กสทช. เรื่อง “ทรูไอดี” แทรกโฆษณาบนช่องทีวีดิจิทัล
- กสทช. ตรวจสอบ คณะอนุกรรมการฯ ตรวจสอบ และเสนอความเห็น
- สำนักงาน กสทช. ออกหนังสือ แจ้งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ให้ปฏิบัติตามกฎ “มัสต์แครี่” (ห้ามแทรกโฆษณา)
- ทรูดิจิทัล ฟ้อง พิรงรอง มองว่าคำสั่ง กสทช. กระทบธุรกิจ อ้าง กสทช. ไม่มีอำนาจกำกับ OTT
- เม.ย. 2567 ทรูดิจิทัล ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้พิรงรองยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
- พ.ค. 2567 ศาลฯ ยกคำร้อง ของทรูดิจิทัล ชี้พิรงรองไม่ได้กลั่นแกล้ง
- เกิดกระแส #saveพิรงรอง นักวิชาการ กลุ่มผู้บริโภค สนับสนุน พิรงรอง ล่า 10,000 รายชื่อ
- บุคคลสำคัญแสดงความเห็น “ธงทอง” ห่วง อนาคต กสทช. “สุภิญญา” ให้กำลังใจ “สรยุทธ” นำเสนอข่าว
- 6 ก.พ. 2568 ศาลนัดฟังคำพิพากษา หาก “พิรงรอง” แพ้ และไม่ได้ประกันตัว ต้องพ้นตำแหน่ง กสทช. ทันที