สคบ. แนะวิธีเซ็นสำเนาบัตรประชาชน ป้องกันมิจฉาชีพ ย้ำ ห้ามถ่ายหลังบัตร
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ห่วงใยประชาชน แนะวิธีเซ็นสำเนาถูกต้องบนสำเนาบัตรประชาชน ป้องกันมิจฉาชีพนำไปแอบอ้าง ย้ำชัด “ห้ามถ่ายหลังบัตร” เพราะอาจถูกใช้ยืนยันตัวตนทำธุรกรรมการเงิน
ในยุคดิจิทัล การทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของออนไลน์ สมัครงาน หรือแม้แต่สมัครเรียน โดยธุระเหล่านี้ส่วนใหญ่จำเป็นใช้สำเนาบัตรประชาชนในการยืนยันตัวตนผ่านทางออนไลน์ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันเหล่ามิจฉาชีพส่วนใหญ่ก็มักแฝงตัวอยู่ในโลกออนไลน์ ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงได้ออกประชาสัมพันธ์เตือนถึงอันตรายของการถ่ายรูปหรือส่งสำเนาบัตรประชาชน พร้อมแนะวิธีที่ในการเซ็นสำเนาถูกต้อง ให้ปลอดภัยจากการตกเป็นเหยื่อโจรร้าย
เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่เผยถึงวิธีเซ็นสำเนาถูกต้องบนสำเนาบัตรประชาชน อย่างปลอดภัยและถูกวิธี เพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยคำแนะนำเป็นดังนี้
1. การถ่ายบัตรประชาชนควรถ่ายแค่หน้าบัตรประชาชนเท่านั้น ห้ามถ่ายหลังบัตร เพราะด้านหลังมีรหัสบัตร เลขหลังบัตร เรียกว่า Loser ID (รหัสกำกับบัตรประจำตัวประชาชน) ใช้ยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินทั้งหมดได้
2. ขีดเส้นคร่อมสองเส้นบนตัวบัตร แต่ห้ามขีดทับรูปหน้าเราเพราะรูปที่ถ่ายเอกสารบางทีหน้าเราก็ไม่ชัดอยู่แล้ว ถ้าขีดเส้นทับจะทำให้การยืนยันตัวตนยากไปอีก ขีดทับข้อมูลสำคัญ ๆ เพื่อให้การแอบอ้างหรือปลอมแปลงยากขึ้นก็ถือว่าเพียงพอ
3. ระหว่างเส้นที่ขีดคร่อม ให้เขียนข้อความว่า “ใช้สำหรับสมัครงานเท่านั้น” หรือ “ใช้สำหรับค้ำประกันเท่านั้น” ฯลฯ เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
4. ควรใส่เขียนสัญลักษณ์ # ปิดหัว-ปิดท้ายประโยคเพื่อป้องกันการเติมข้อความ
5. เขียน วัน เดือน ปี ที่เซ็นลงไป เพราะถ้าเราไม่เขียน มิจฉาชีพจะสามารถนำเอกสารไปใช้ได้
6. เขียน “สำเนาถูกต้อง” พร้อมกับเซ็นชื่อของตัวเอง ซึ่งข้อนี้เชื่อว่าทุกคนทำกันอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่อาจจะเซ็นตรงพื้นที่ว่างข้างล่าง แต่วิธีเซ็นที่ปลอดภัยคือเซ็นทับไปบนบัตร
ทั้งนี้ ทาง สคบ. ย้ำว่า การเซ็นรับรองสำเนาบัตรประชาชนเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะเอกสารเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในนิติกรรมที่ผูกพันเจ้าของบัตรได้ ดังนั้นจึงควรทำอย่างรอบคอบและถูกวิธี เพื่อป้องกันการแอบอ้าง และเป็นการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ ยกเลิกสำเนาทะเบียนบ้าน-บัตร ปชช.
- เริ่มแล้ว สมรสเท่าเทียม เช็กสิทธิที่ได้ เอกสารและขั้นตอนการจด
- เปิดลิสต์ 6 เอกสารหาย ทำใหม่ได้เลย-ไม่ต้องแจ้งความ พร้อมวิธียื่นขอ