ข่าวต่างประเทศ

นาซ่าเผย ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 โอกาสพุ่งชนโลก ในอีก 7 ปี เพิ่มขึ้น

นาซ่าเผย ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 โอกาสพุ่งชนโลก อีก 7 ปี เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ หากชนโลกจริง อาจเทียบเท่าระเบิด TNT 50 ล้านตัน

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) รายงานว่าโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อย “2024 YR4” จะพุ่งชนโลกในวันที่ 22 ธันวาคม 2032 ได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดิมที่มีโอกาส 1 ใน 83 (1.2%) เป็น 1 ใน 77 (1.3%) ตามการอัปเดตล่าสุดจากระบบติดตามภัยคุกคามจากอุกกาบาต “Sentry” ของนาซา

Advertisements

นักดาราศาสตร์คำนวณว่า หาก 2024 YR4 พุ่งชนโลกจริง พื้นที่ที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุดครอบคลุมตั้งแต่ทวีปอเมริกาใต้ ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ไปจนถึงแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง โดยเฉพาะหากพุ่งชนเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น

ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 มีขนาดประมาณ 200 ฟุต (ราว 60 เมตร) ซึ่งใกล้เคียงกับดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนโลกในเหตุการณ์ “ตุงกัสกา” เมื่อปี 1908 ส่งผลให้เกิดระเบิดกลางอากาศที่มีพลังเทียบเท่ากับระเบิด TNT 50 ล้านตัน ทำให้ต้นไม้ในป่าประมาณ 80 ล้านต้นในพื้นที่ 830 ตารางไมล์ถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง

หาก 2024 YR4 เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก อาจเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน หรือหากไม่แตกตัวกลางอากาศ อาจพุ่งชนพื้นดินโดยตรงและสร้างหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่พร้อมกับก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

แม้ว่าความเป็นไปได้ของการพุ่งชนจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่นักดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ศาสตราจารย์ริชาร์ด พี. บินเซล ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวลมากนัก เพราะตัวเลขโอกาสการชนที่เพิ่มขึ้นจาก 1.2% เป็น 1.3% ถือเป็นความคลาดเคลื่อนทางสถิติที่เกิดขึ้นได้ตามปกติในการวัดค่าทางวิทยาศาสตร์

“ตัวเลข 1.2% กับ 1.3% ไม่ได้มีนัยสำคัญมากพอจะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในปัจจุบันได้ จนกว่าข้อมูลการติดตามดาวเคราะห์น้อยจะมีความแม่นยำมากขึ้น เราอาจเห็นตัวเลขโอกาสนี้เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยเป็นเรื่องปกติ” ศาสตราจารย์บินเซลกล่าว

Advertisements

ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 จะพุ่งชนโลกในวันที่ 22 ธันวาคม 2032

ดาวเคราะห์น้อยที่ถูกจัดอันดับภัยคุกคามสูงสุดในปัจจุบัน

ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ขึ้นเป็นลำดับสูงสุดในรายชื่อภัยคุกคามที่ได้รับการจัดอันดับโดยระบบ “Sentry” ซึ่งติดตามวัตถุใกล้โลก (Near-Earth Objects หรือ NEOs) และจัดระดับความเสี่ยงของพวกมัน โดย 2024 YR4 ได้รับคะแนน 3 จาก 10 ใน “มาตราส่วนโตริโน” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ประเมินความเสี่ยงจากวัตถุอวกาศที่จะพุ่งชนโลก โดยปกติแล้ว วัตถุใกล้โลกส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคะแนนเกิน 2 ทำให้ 2024 YR4 เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์น้อยที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดในขณะนี้

นักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถคำนวณความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการพุ่งชนได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากต้องศึกษาองค์ประกอบและขนาดที่แท้จริงของดาวเคราะห์น้อยเพิ่มเติม โดยวิธีที่แม่นยำที่สุดในการวัดขนาดของดาวเคราะห์น้อยคือการใช้เรดาร์สะท้อนคลื่นวิทยุ ซึ่งคาดว่านักดาราศาสตร์จะสามารถใช้เทคนิคนี้ได้ในปี 2028 เมื่อ 2024 YR4 เคลื่อนผ่านโลกในระยะประมาณ 5 ล้านไมล์

ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ใช้ความสว่างสัมบูรณ์ของดาวเคราะห์น้อย (Absolute Magnitude) ในการประมาณขนาด ซึ่งให้ค่าประมาณที่ 196 ฟุต (ประมาณ 60 เมตร) แต่ตัวเลขนี้อาจคลาดเคลื่อนขึ้นอยู่กับปริมาณแสงที่สะท้อนจากพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย หากมีพื้นผิวที่มืดกว่าที่คาดไว้ ขนาดจริงอาจใหญ่กว่านี้ หรือหากสะท้อนแสงมากกว่าที่คาดไว้ ขนาดจริงอาจเล็กกว่าที่ประเมิน

อุกกาบาตตกที่ส ตุงกัสกา เมื่อปี 1908 ส่งผลให้เกิดระเบิดกลางอากาศที่มีพลังเทียบเท่ากับระเบิด TNT 50 ล้านตัน ทำให้ต้นไม้ในป่าประมาณ 80 ล้านต้นในพื้นที่ 830 ตารางไมล์ถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง

องค์ประกอบของดาวเคราะห์น้อยมีผลต่อความเสียหาย

นักดาราศาสตร์ระบุว่า องค์ประกอบของ 2024 YR4 เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดผลกระทบ หากเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีองค์ประกอบเป็นหิน อาจแตกตัวและเกิดระเบิดกลางอากาศเช่นเดียวกับเหตุการณ์ตุงกัสกา แต่หากเป็นโลหะ เช่น เหล็ก จะสามารถพุ่งชนพื้นโลกโดยตรงและสร้างหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่

“องค์ประกอบของดาวเคราะห์น้อยเป็นปัจจัยสำคัญต่อระดับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หากเป็นหิน อาจเกิดลูกไฟและระเบิดกลางอากาศ แต่หากเป็นเหล็ก จะทะลุชั้นบรรยากาศและชนพื้นโลกโดยตรง” นักดาราศาสตร์รันคินกล่าวกับ Space.com

แม้ว่านาซาและนักดาราศาสตร์ทั่วโลกจะจับตามองดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 อย่างใกล้ชิด แต่ในขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าโอกาสพุ่งชนโลกยังคงต่ำมาก และมีแนวโน้มว่าสุดท้ายแล้วมันจะเคลื่อนผ่านโลกไปอย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์จะศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเส้นทางโคจร องค์ประกอบ และขนาดที่แท้จริงของมันต่อไป เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่แม่นยำมากขึ้นก่อนปี 2032

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button