กกต. ยันเลือกตั้ง อบจ. วันเสาร์ดีกว่าอาทิตย์ใน 29 จังหวัดก่อนหน้านี้
กกต. ยืนยัน จัดเลือกตั้ง อบจ. วันเสาร์คิดดีแล้ว ยอดผู้ออกมาใช้สิทธิดีกว่ารอบการเลือกตั้ง 29 จังหวัดก่อนหน้านี้ที่จัดวันอาทิตย์
วันนี้ (3 ก.พ.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยข้อมูลเชิงสถิติและภาพรวมของการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายกอบจ. เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่า มีการที่สังคมมองว่าผู้ออกมาใช้สิทธิน้อยและไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้เพราะเลือกตั้งวันเสาร์นั้น
ประเด็นนี้เคยชี้แจงแล้วว่ามีข้อจำกัดที่กฏหมายต้องเลือกภายใน 45 วัน และข้อเท็จจริงว่ามี 6 จังหวัดที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ทำให้การส่งรายงานผลคะแนนและหีบบัตรเกินเวลาเที่ยงคืนของวันเลือกตั้ง ดังนั้นการตัดสินใจเลือกตั้งในวันเสาร์จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
นายแสวง ระบุว่า การกำหนดวันเลือกตั้งต้องตัดสินใจบนพื้นฐานที่ไม่กดดันการทำงานผู้ปฏิบัติงานด้วย อีกทั้งในวันเสาร์ยังไม่กระทบต่อการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม เนื่องจากผู้สมัครทุกคนแข่งขันอย่างเท่าเทียมภายใต้กฏกติกาเดียวกัน รวมถึงยอดผู้ออกมาใช้สิทธิยังน้อยกว่าการจัดการเลือกตั้งปี 2563 เพียง 4% เท่านั้น อีกทั้งการเลือกตั้ง อบจ. วันเสาร์ครั้งนี้ยังถือว่าดีกว่ากับการเลือกตั้งนายก อบจ. 29 จังหวัดก่อนหน้านี้ที่จัดวันอาทิตย์อีกด้วย
ขณะที่สัดส่วนของจำนวนบัตรเสียนั้น นายแสวง ระบุว่า ไม่ต่างจากปี 63 เท่าไหร่ โดยบัตรเสียของการเลือกนายก อบจ. เท่ากับปี 63 ส่วน ส.อบจ. ถือว่าน้อยกว่า 7.63 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากระบบที่ทำให้เบอร์ของผู้สมัครที่ส่งในนามพรรคอาจมีจำนวนไม่เท่ากัน เนื่องจากบางจังหวัดเลือกตั้งเฉพาะ ส.อบจ. ขณะที่บางแห่งเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภท ประชาชนจึงอาจสับสนและลงคะแนนในช่องที่ไม่มีผู้สมัครได้ จึงมองได้ว่าไม่เป็นการทำให้บัตรเสียโดยตั้งใจ ทว่าสัดส่วนคนที่ทำให้บัตรเสียโดยตั้งใจก็มีน้อยเช่นกัน
ทั้งนี้ประเด็นทำไมมี บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใคร หรือ โหวตโน จำนวนมากนั้น นายแสวง กล่าวว่าทาง กกต. คงตอบแทนประชาชนไม่ได้ แต่คาดว่าช่องนี้น่าจะเป็นการแสดงความรู้สึกของผู้มีสิทธิต่อผู้สมัครในเขตนั้น ๆ โดยครั้งนี้ ส.อบจ. ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนตามที่กฎหมายกำหนด 3 เขต คือได้คะแนนเสียงไม่มากกว่าคะแนนที่ไม่เลือกผู้ใด ประกอบด้วย จ.สุพรรณบุรี อ.เมือง เขตเลือกตั้งที่ 1, จ.ตรัง อ.เมือง เขตเลือกตั้งที่ 2, จ.ชุมพร อ.สวี เขตเลือกตั้งที่ 4 และจ.ชัยนาท อ.วัดสิงห์ เขตเลือกตั้งที่ 1 ที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัครถูกตัดสิทธิไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
ดังนั้นผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 4 จังหวัดข้างต้น จะต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ต่อไปภายใน 7 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง พร้อมดำเนินการรับสมัครใหม่ในเขตเลือกตั้ง และกำหนดวันเลือกตั้งไม่เกิน 45 วัน นับแต่วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่
ส่วน 4-5 จังหวัดที่พบว่าจำนวนบัตรไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธินั้น ทางจังหวัดต้องเป็นผู้พิจารณาเองว่าจะเสนอมาที่ กกต. ว่าสมควรนับคะแนนใหม่หรือลงคะแนนเลือกตั้งใหม่หรือไม่อย่างไร
นายแสวงกล่าวด้วยว่า และมีอีก 1 เขตที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัครถูกตัดสิทธิไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งคือ จ.ชัยนาท อ.วัดสิงห์ เขตเลือกตั้งที่ 1 ดังนั้น ทั้ง 4 จังหวัดนี้ต้องเลือกตั้งใหม่
ข้อมูลสถิติการเลือกตั้ง นายกอบจ. 2568
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 27,991,587 คน : มาใช้สิทธิ 16,362,185 คน (58.45%)
- บัตรดี 14,272,694 ใบ (87.23%)
- บัตรเสีย 931,290 ใบ (5.69%)
ข้อมูลสถิติการเลือกตั้ง ส.อบจ. 2568
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 47,124,842 คน : มาใช้สิทธิ 26,418,754 คน (56.06%)
- บัตรดี 23,131,324 ใบ (87.56%)
- บัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,799,344 ใบ (6.81%)
5 จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งนายกและส.อบจ. มากที่สุดใน 47 จังหวัด
- ลำพูน คิดเป็น 73.43 เปอร์เซ็นต์
- นครนายก คิดเป็น 73 เปอร์เซ็นต์
- พัทลุง คิดเป็น 72.56 เปอร์เซ็นต์
- นราธิวาส คิดเป็น 68.42 เปอร์เซ็นต์
- มุกดาหาร คิดเป็น 68.03 เปอร์เซ็นต์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กกต. สั่ง 4 เขต เลือกตั้ง ส.อบจ ใหม่ กางสถิติบัตรเสียเกือบล้าน
- พรรคประชาชน เมินกระแสตก หลังได้ อบจ. แค่จังหวัดเดียว
- เปิดผลการเลือกตั้ง อบจ. 2568 ทั้ง 47 จังหวัด พื้นที่ไหนใครชนะบ้าง เช็กที่นี่