ข่าว

แพทยสภา เตือน แขวนป้ายหมอ ผิดกฎหมาย พักใบอนุญาตได้เลย

แพทยสภา เตือน แขวนป้ายหมอ แต่ไม่เข้าคลินิก ผิดกฎหมาย พักใบอนุญาตได้เลยไม่ต้องเตือน หากมีครั้งต่อไปถอนใบอนุญาต

รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์กรณีแพทย์แขวนป้ายหรือการที่แพทย์นำชื่อตนเองไปให้ใช้เปิดคลินิก โดยที่ตัวเองไม่ได้เข้าไปควบคุมตามกฎหมาย ว่า กรณีแพทย์แขวนป้ายมีคดีที่รู้และแจ้งมาที่แพทยสภาทุกเดือน โดยจะมีการประกาศรับแพทย์แขวนป้าย ลงอยู่ในสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์กลุ่มเฉพาะ ซึ่งบางทีก็เหมือนเจตนาหลอกลวงแพทย์ที่ไม่รู้กฎหมาย เช่น รับให้แขวนป้ายจะได้เดือนละ 10,000 – 50,000 บาท ก็ว่ากันไป และจะเซ็นสัญญาว่า ถ้ามีเรื่องเข้ามาที่แพทยสภาจะไม่ต้องรับผิด เพราะทางผู้จัดดำเนินการจะจัดการปัญหาให้เอง หรือบอกว่าไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

Advertisements

รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวอีกว่า แพทยสภาชุดที่ผ่านมามีมติเป็นเอกฉันท์ในความผิดกรณีนี้ จะไม่มีการว่ากล่าว ตักเตือน หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 1-2 เดือน แต่ความผิดเรื่องของการแขวนป้าย ตามประกาศแพทยสภาฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ก.พ.2568 จะเริ่มตั้งแต่พักใช้ใบอนุญาตฯ 1 ปีทันที หากทำผิดซ้ำครั้งที่ 2 หรือไปถึงครั้งที่ 3 แปลว่าไม่อยากเป็นแพทย์แล้ว โดยการนำชื่อตัวเองไปให้มีการเปิดคลินิกเถื่อน 3 ครั้งแล้ว ก็จะเพิกถอนใบอนุญาตฯ

“เตือนน้องๆ แพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์ที่มีปัญหานี้คือแพทย์ที่จบใหม่ ที่เขาจะบอกว่าไม่รู้กฎหมาย แต่นักกฎหมายบอกว่าจะอ้างไม่รู้กฎหมายไม่ได้ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นกฎหมายเฉพาะของแพทย์ที่ต้องรู้ และแพทยสภาไม่อยากให้มีแพทย์โดนลงโทษในความผิดเช่นนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าแพทยสภาได้มีการปรับกฎและความผิดใหม่แล้ว

เรื่องแพทย์แขวนป้ายเป็นความผิดที่ถือว่ารุนแรงกว่าการโฆษณาเกินจริงของแพทย์ เนื่องจากเป็นต้นทางของการให้หมอเถื่อน เป็นเหมือนการเปิดประตูบ้านให้ข้าศึกเข้ามาในเมือง โดยการรับเงินเดือนละ 20,000-30,000 บาทแล้วให้ใครก็ได้เข้ามาทำอะไรก็ได้เข้ามาดำเนินการในคลินิก ซึ่งเป็นต้นเหตุของความไม่ปลอดภัย ทำให้มีผู้ป่วยได้รับความเสียหาย โดยไม่รู้เลยว่าการรับบริการนั้นเป็นแพทย์จริงหรือปลอม ถ้ามีแพทย์จริงอยู่ตามกฎหมาย ก็จะคอยควบคุมไม่ให้คนอื่นเข้ามาประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยผิดกฎหมาย

เชื่อว่าคดีเกี่ยวกับเรื่องแพทย์แขวนป้ายจะลดลง หลังจากประกาศนี้มีผลบังคับใช้ในเดือนก.พ.2568 ซึ่งเป็นความผิด ถึงแม้แพทย์จะอ้างว่าไม่รู้ ไม่เจตนา แต่กฎหมายไม่ฟังว่า ไม่รู้ เหมือนกับกรณีที่เภสัชกรแขวนป้าย ซึ่งสภาเภสัชกรรมได้มีประกาศพักใช้ใบอนุญาตกรณีเภสัชแขวนป้าย 2 ปี หลังมีผลบังคับใช้ เท่าที่ทราบ คดีกรณีแขวนป้ายลดลงทันทีเลย เพราะมีความเกรงกลัว นับเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน” รศ. (พิเศษ) นพ.เมธีกล่าว

ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ น.ส.เกศกมล เปลี่ยนสมัย หรือ “หมอเกศ” กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งในรายได้ระบุว่า ค่าแขวนป้าย (หมอ) 210,000 บาท

Advertisements

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Nateetorn S.

ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button