น้อยคนรู้ ผู้บริจาคเลือด ได้สิทธิช่วยค่ารักษาพยาบาล มาก-น้อย ขึ้นกับจำนวนครั้ง
ไขข้อข้องใจ การบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง ได้สิทธิพิเศษอะไร สภากาชาดตอบเอง พาเปิดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล มาก-น้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้ง พร้อมแจงเงื่อนไขการใช้สิทธิ์
การบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง นอกจากจะได้บุญกุศล จากการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์แล้ว ผู้บริจาคเลือดยังได้รับสิทธิพิเศษ “การให้ความช่วยเหลือ ค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้บริจาคโลหิต” ซึ่งจะช่วยสนับสนุนในส่วนของค่าห้องพิเศษ ค่าอาหาร ค่าผ่าตัด และค่าคลอดบุตร โดยอัตราการช่วยค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่บริจาคโลหิต และประเภทของโรงพยาบาลที่รับการรักษา
สภากาชาดไทย Thai Red Cross Society ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับสิทธิการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล ไว้ดังนี้
โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
- ผู้บริจาค 1 ครั้งขึ้นไป ช่วยเหลือค่าห้องพิเศษ ค่าอาหาร 50% ของส่วนเกินจากสิทธิพื้นฐาน
- ผู้บริจาค 18 ครั้งขึ้นไป ช่วยเหลือค่าห้องพิเศษ ค่าอาหาร 50% ของอัตราที่แต่ละโรงพยาบาลกำหนดไว้
โรงพยาบาลในสังกัดสภากาชาดไทย
สำหรับโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดสภากาชาดไทย มีทั้งหมด 2 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา)
- ผู้บริจาค 7 ครั้งขึ้นไป ช่วยเหลือค่าห้องพิเศษ ผ่าตัด คลอดบุตร 50% ยกเว้นการผ่าตัดด้วยอุปกรณ์พิเศษ แต่ผู้ป่วยยังคงต้องชำระค่ารักษาประเภทผู้ป่วยสามัญ
- ผู้บริจาค 24 ครั้งขึ้นไป ช่วยเหลือค่าห้องพิเศษ ผ่าตัด คลอดบุตร 50% ยกเว้นการผ่าตัดด้วยอุปกรณ์พิเศษ โดยผู้ป่วยไม่ต้องชำระค่ารักษาประเภทผู้ป่วยสามัญ
เงื่อนไขการขอความช่วยเหลือ สำหรับผู้บริจาคเลือด
1. กรณีมีสิทธิพื้นฐาน เช่น บัตรทอง บัตรข้าราชการ ประกันสังคม สิทธิ์นั้นจะถูกใช้ก่อน
2. ผู้บริจาคโลหิต ต้องเป็นผู้ป่วยในเท่านั้น และเป็นสิทธิ์เฉพาะตัวไม่สามารถโอนให้ผู้อื่นได้
3. นำบัตรประจำตัวผู้บริจาคโลหิต หรือบัตรประจำตัวประชาชนมาขอหนังสือรับรองได้ หลังจากรู้วันนอนโรงพยาบาลที่แน่นอน โดยสามารถเดินทางมาขอเอกสารได้ที่ ศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย (กรุงเทพฯ) และ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ และโรงพยาบาลสาขาบริการโลหิต (ต่างจังหวัด)
4. หนังสือรับรองสามารถนำไปลดหย่อนการรักษาพยาบาลเป็นรายครั้ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สภากาชาดไทยแจงแล้ว ไม่ได้จำหน่ายโลหิต แต่เป็นการคิดค่าบริการ
- เริ่มวันนี้ ถ่ายรูปตอนบริจาคเลือด สภากาชาดไทย เพื่อยืนยันตัวตน
- สภากาชาดไทย เปิดบริการฉีด “วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร”