ข่าว

แพทย์ห่วงสายวิ่ง ช่วงวิกฤต PM 2.5 ต้องหมั่นเช็กค่าฝุ่น-AQI ชี้ระดับไหนเริ่มเสี่ยง

อาจารย์แพทย์ มช. ห่วงสายวิ่ง ช่วงฤดูฝุ่น PM 2.5 ต้องหมั่นเช็กค่าฝุ่น PM2.5 และ AQI ก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง

วันที่ 23 มกราคม 2568 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (official) รายงานว่า รศ.นพ.อรรถวุฒิ ดีสมโชค หัวหน้าหน่วยวิชาระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ออกมาแสดงความห่วงใยแก่ประชาชน เกี่ยวกับการวิ่ง และการออกกำลังกายในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 สูง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เนื่องจากการหายใจเร็วและลึกขึ้นในระหว่างออกกำลังกาย ส่งผลต่อปริมาณฝุ่นที่เข้าสู่ร่างกาย

Advertisements

ประกอบกับการสวมหน้ากากขณะวิ่งอาจทำให้การหายใจลำบาก ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ด้วยเหตุนี้ รศ.นพ.อรรถวุฒิ จึงได้แนะนำวิธีปฏิบัติ สำหรับผู้ที่ออกไปวิ่ง หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. ตรวจสอบสุขภาพของตนเอง หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืดหรือโรคถุงลมโป่งพอง ควรแน่ใจว่าโรคอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี ใช้ยาควบคุมโรคอย่างสม่ำเสมอ และปรึกษาแพทย์หากมีข้อสงสัย

2. เช็คค่าฝุ่น PM2.5 และ AQI ก่อนวิ่ง

  • ค่า AQI > 50 หรือ PM2.5 > 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ควรลดระยะเวลาและความเข้มข้นของการวิ่งกลางแจ้ง
  • ค่า AQI > 100 หรือ PM2.5 > 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ควรเลี่ยงการวิ่งกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก
  • ค่า AQI > 200 หรือ PM2.5 > 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ควรงดวิ่งหรือออกกำลังกายกลางแจ้งโดยเด็ดขาด

หากเลือกออกกำลังกายในบ้านหรือฟิตเนส ควรใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อลดค่า PM2.5 ให้ต่ำกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และปิดประตู และหน้าต่างให้มิดชิด

3. เตรียมยาประจำตัวให้พร้อม ในผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือโรคถุงลมโป่งพอง ควรพกยาพ่นขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์เร็วติดตัว สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรพกยาอมหรือยาพ่นใต้ลิ้นขยายหลอดเลือดหัวใจ

Advertisements

4. สูดยาขยายหลอดลมก่อนออกกำลังกาย (ในผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ) สำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือโรคถุงลมโป่งพอง แนะนำให้สูดยาพ่นขยายหลอดลมออกฤทธิ์เร็วประมาณ 10-15 นาที ก่อนการออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก

5. ไม่สวมหน้ากากขณะวิ่ง การสวมหน้ากากขณะวิ่งอาจทำให้การหายใจลำบาก หากมีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือหน้ามืด ควรหยุดวิ่งทันทีและรีบไปพบแพทย์

แพทย์แนะเช็กค่าฝุ่นก่อนวิ่ง
ภาพจาก : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (official)

ทั้งนี้ รศ.นพ.อรรถวุฒิ ยังได้ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า การวิ่งในฤดูฝุ่น PM2.5 ต้องคำนึงถึงสุขภาพและคุณภาพอากาศเป็นหลัก หากค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ควรลดระยะเวลา เลี่ยงการวิ่งกลางแจ้ง หรือออกกำลังกายในร่มแทน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ การออกกำลังกายที่ปลอดภัยและเหมาะสม จะช่วยให้คุณรักษาความฟิตและสุขภาพที่ดีในระยะยาว ดูแลสุขภาพตนเอง และอย่าลืมใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button