ข่าว

หมอแล็บ เตือน ฝุ่น PM 2.5 ทำเลือดออกจมูก กระตุ้นโรคภูมิแพ้

หมอแล็บแพนด้าเผย! ฝุ่น PM 2.5 อันตราย กระตุ้นภูมิแพ้ ทำเลือดออกจมูก เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มเสี่ยงควรระมัดระวัง

วันที่ 20 มกราคม 2567 เพจ หมอแล็บแพนด้า หรือ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศุขเวช ได้แชร์ภาพกระดาษทิชชูซึ่งมีเลือดติดอยู่ เจ้าของภาพดังกล่าว ระบุว่า เมื่อตนเผชิญกับมลภาวะทางอากาศอย่างฝุ่น PM 2.5 ร่างกายเกิดการตอบสนองที่รุนแรง เช่น ไอเรื้อรัง ต้องเปิดเครื่องฟอกอากาศ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่ยังคงพบว่ามีน้ำมูกและเลือดออกจากจมูกสองครั้งภายในหนึ่งสัปดาห์ ขณะอยู่ในบ้าน

Advertisements

“อยากให้ภาคครัฐจริงจังดับ การจัดการ กับ pm 2.5 จริงจังแล้วค่ะ เข้าหน้านี้ทีไร ร่างกายแย่มาก ไอเรื้อรัง ต้องเปิดเครึ่งฟอกอากาศ ใส่แมสตลอด สั่งน้ำมูกมามี แต่เลือด ในรอบสัปดาห์นี้ เป็น 2 ครั้งแล้วค่ะ แสบจมูก แล้วมีเลือดออก เป็นแบบนี้ 2 ครั้ง ทั้ง ๆ ที่อยู่ แต่ในบ้าน แต่เปิดหน้าต่าง”

หมอแล็บแพนด้า แชร์ภาพ การอักเสบของเยื่อบุในช่องจมูก หลังสูด PM 2.5
ภาพจาก หมอแล็บแพนด้า

ในโพสต์ดังกล่าว หมอแล็บแพนด้า ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การสูดฝุ่น PM 2.5 สามารถทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุในช่องจมูก ส่งผลให้เลือดฝอยที่จมูกมีการอักเสบและแตกง่าย จนกลายเป็นสาเหตุของเลือดกำเดาไหลได้ ซึ่งอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหัวใจและหลอดเลือด

โดยเฉพาะในช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 มีความเข้มข้นสูง การได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศนี้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองและการอักเสบได้ง่ายขึ้น จึงขอแนะนำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงระมัดระวัง และหมั่นติดตามข่าวสารสภาพอากาศเพื่อป้องกันอันตรายจากฝุ่นละออง

PM 2.5 กระตุ้นโรคได้อย่างไร

ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งสามารถฝ่าฟันเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย เมื่อร่างกายรับฝุ่นนี้เข้าไปจะเกิดผลกระทบต่อระบบต่างๆ โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และโรคหัวใจและหลอดเลือด

1.โรคภูมิแพ้

Advertisements

ฝุ่น PM 2.5 สามารถกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบในเยื่อบุจมูกและทางเดินหายใจ ส่งผลให้ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้มีอาการกำเริบ เช่น จาม คันจมูก น้ำมูกไหล คัดจมูก และหายใจไม่สะดวกได้มากขึ้น ในบางกรณีอาจทำให้มีอาการหอบหรือหายใจติดขัด

2. โรคหอบหืด

ฝุ่น PM 2.5 เป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการหอบหืดกำเริบ เนื่องจากฝุ่นเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการอักเสบในหลอดลม ทำให้หลอดลมตีบและแคบลง ส่งผลให้หายใจลำบาก มีอาการหายใจเสียงดัง หรือหายใจไม่เต็มที่ได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายหากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที

3. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

อีกหนึ่งปัจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เกิดอาการกำเริบ เช่น หายใจลำบาก ไอเรื้อรัง หรือมีเสมหะมากขึ้น การสูดฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาวอาจทำให้สภาพปอดเสื่อมลงเร็วขึ้น และทำให้การหายใจยากขึ้นจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในที่สุด

4. โรคหัวใจและหลอดเลือด

ฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้าไปในกระแสเลือดและส่งผลกระทบต่อหลอดเลือด ทำให้เกิดการอักเสบในระบบหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้น เช่น การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก หัวใจวาย หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง: หมอแล็บแพนด้า, WHO

New Nidhikant

จบการศึกษาคณะอักษรศาสตร์ เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร นักเขียนสายมูเตลู และนักอ่านไพ่ทาโรต์ โหราศาสตร์ มีความสนใจด้านข่าวการเมือง ศิลปะวัฒนธรรม แฟชั่น และสายดูดวงมูเตลู งานเขียนเน้นเนื้อหาที่เข้าใจง่าย อ่านสนุก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button