ข่าว

ผู้เชี่ยวชาญ ให้ความรู้ไวรัลดัง หนุ่มขับส่งลูกสิงโต เคลื่อนย้ายผิดหลัก

ผู้เชี่ยวชาญ ให้ความรู้ไวรัลดัง หนุ่มขับส่งลูกสิงโตตัวเป็นๆ ชี้เป็นการเคลื่อนย้ายผิดหลัก ควรผูกล่ามสัตว์เลี้ยงไว้กับที่ห้ามปล่อยเดินไปเดินมา เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุด้วย

จากกรณีไวรัลในสื่อสังคมออนไลน์ ครีเอเตอร์หนุ่มหันมารับจ็อบขับรถส่งของผ่านแอปพลิเคชั่นหนึ่ง หลังจากทำงานได้พักใหญ่มีลูกค้าประจำที่มักจะเรียกรถเพื่อมารับ-ส่งสัตว์แปลก หรือสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ (Exotic) ก่อนหน้านี้เขาทำหน้าที่ส่งคาปิบารา และ มาร์มอต หรือกระรอกขนาดใหญ่ แต่ในครั้งนี้กลับต้องพบกับสัตว์ชนิดใหม่ที่คาดคิดมาก่อนอย่าง ‘ลูกสิงโต’ จนกลายเป็นข่าวดังตามที่มีรายงานไปก่อนหน้านี้นั้น

Advertisements

ล่าสุดแอดมินกลุ่ม นี่ตัวอะไร ได้ออกมาให้ความรู้เพิ่มเติมถึงกรณีดังกล่าวโดยระบุว่า “สิงโตเลี้ยงได้หรือไม่ ?
ความรู้ทั่วไปของสิงโตและกฎหมายสัตว์ป่าควบคุม

จากกรณีเรื่องของลูกสิงโตกับคนขับรถส่งสิงโตไปยังลูกค้า ทำให้เกิดเรื่องที่หลายคนสงสัยกันว่า สิงโตเลี้ยงได้หรือไม่ ? และขับรถลักษณะนี้แล้วมีสิงโตเดินเผ่นผ่านมันถูกต้องหรือไม่ ในฐานะที่แอดบิวชอบคลุกคลีกับสัตว์สวนสัตว์ เลยอยากจะมาเล่าแบ่งปันความรู้เรื่องนี้กัน พร้อมกับประสบการณ์ตรงที่แอดบิวเจอมากับตัวจนเป็นข้อมูลมาว่า คนที่จะเลี้ยงสิงโตจริงๆยังขาดข้อมูลที่ถูกต้องไปเยอะมาก

สิงโตเลี้ยงได้จริงหรือไม่ ?

• คำตอบคือ สิงโตสามารถเลี้ยงในประเทศไทยได้ แต่การจะเลี้ยงสิงโตจริงๆต้องมีใบอนุญาตครอบครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2567 ซึ่งในปัจจุบันมีฟาร์มสิงโตหลายแห่งเกิดขึ้นมาในประเทศไทยและเพาะพันธุ์สิงโตขึ้นเพื่อเป็นสัตว์สวนสัตว์และ Exotic pet ส่งให้กับผู้เลี้ยงที่มีกำลังทรัพย์และความพร้อมในเรื่องสถานที่กับสุขอนามัยที่ดี

• ซึ่งการเลี้ยงสิงโตจริงๆแล้ว ก่อนผู้เลี้ยงจะรับสิงโตมาอยู่ในบ้าน ต้องจดแจ้งให้ทางกรมอุทยานเพื่อระบุตัวตนด้วยไมโครชิพที่ระบุรหัสประจำตัวให้ตรงกับตัวสิงโต และให้ CITES (อนุสัญญาการค้าสัตว์ป่าและพรรณพืชระหว่างประเทศ) มาลงพื้นที่สำรวจที่เลี้ยงก่อนที่จะนำสิงโตมาอยู่อาศัยกับเจ้าของ ว่ากว้างพอมั้ย ไกลจากชุมชนแค่ไหน และกรงมาตรฐานดีมั้ย หากพื้นที่เลี้ยงไม่ผ่านเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ก็ไม่สามารถนำสิงโตมาอยู่ในบ้านได้

Advertisements

• ด้วยช่องโหว่งของ CITES ที่ทำให้สิงโตอยู่ในอนุสัญญาบัญชี 2 ที่สามารถนำเข้ามาได้โดยมีใบนำเข้าส่งออกถูกต้องได้ เนื่องด้วยสถานภาพของสิงโตไม่เหมือนแมวใหญ่อย่างเสือโคร่งและชีตาห์ที่อยู่บัญชี 1 ที่สุ่มเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ และต้องเป็นสวนสัตว์สาธารณะและหน่วยงานวิจัยนำเข้าได้เท่านั้น เลยทำให้สิงโตสามารถนำเข้ามาเพาะขยายพันธุ์ได้

สัตว์ป่าควบคุมคืออะไร ?

• สัตว์ป่าควบคุม คือประเภทของสัตว์ป่าในอนุสัญญา CITES จำนวน 67 ชนิดในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2567 ที่สามารถครอบครองได้ด้วยการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสิงโตก็เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าควบคุมร่วมกับเสือชีตาห์และเสือจากัวร์ที่เป็นสัตว์ตระกูลแมวอีกพวกที่อยู่ในรายการด้วย

• ซึ่งกรณีสิงโตนั้นเป็นสัตว์ป่าควบคุมประเภท ก. หรือสัตว์ป่าดุร้ายอันตรายที่ทางกรมอุทยานและ CITES เข้มงวดเอามากๆเรื่องการนำเข้าและการครอบครองนั่นเอง ในเดือนมีนาคมปี 2023 ที่ผ่านมา มีสิงโตจดทะเบียนไปแล้วร่วมเกือบ 200 กว่าตัว ถือว่าเป็นสัตว์ป่าควบคุมผระเภท ก. ที่มีคนจดทะเบียนมากที่สุด

• สำหรับบทลงโทษกรณีไม่แจ้งการครอบครองนั้น ระเบียบนี้ระบุว่า ผู้ที่กระทำผิดจะต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปัญหาของการเลี้ยงสิงโตในประเทศไทย

• ในประเทศไทยนั้นมีปัญหาการเลี้ยงสิงโตหลักๆหลายอย่าง ทั้งเรื่องข้อมูล สภาพอากาศ และโรคภัยไข้เจ็บ จากที่แอดบิวเจอมา สิงโตที่ไม่ใช่ในสวนสัตว์มีปัญหาภาวะเลือดชิดจากพ่อแม่ในฟาร์มต้นทางที่นำเข้ามา ลูกสิงโตออกมาอ่อนแอ มีปัญหาเรื่องกระดูกผิดรูปทำให้ใช้ชีวิตลำบาก เป็นดาว์นซินโดรม และแย่สุดคือ โตไม่เหมือนสิงโตทั่วไป

• ส่วนเรื่องอากาศนั้น สิงโตเป็นสัตว์ที่แห้ง มีปัญหาเรื่องเชื้อรากัดผิวหนังและป่วยเป็นโรคปอดอักเสบง่าย เพราะว่าอากาศประเทศไทยนั้นก่ำกึ่งร้อนชื้นและร้อนแห้ง ซึ่งสิงโตในหลายสวนสัตว์มักเจอปัญหานี้ ดังนั้นสวนสัตว์ใหญ่ๆมักเลี้ยงสิงโตในลักษณะอากาศถ่ายเทสะดวกเสมอ และไม่มีความชื้นสะสมมากเกินไปนั่นเอง

• ส่วนเรื่องข้อมูลการเลี้ยง กรณีสวนสัตว์ไม่มีปัญหาเพราะมีสัตวแพทย์และนักสัตววิทยาคอยให้ข้อมูลอยู่แล้ว แต่ผู้เลี้ยงทั่วไปจะเข้าใจว่าสิงโตนั้นเลี้ยงแบบแมวก็ได้ เลี้ยงปล่อยตามใจไม่ดุไม่ตีสั่งสอนให้ฟัง บางรายยังเข้าใจว่าสิงโตในที่เลี้ยงจะกินอาหารเม็ดแบบแมวได้ ก็เกิดปัญหาขาดสารอาหารไป ปัญหานี้แอดบิวเคยแนะนำผู้เลี้ยงท่านหนึ่งเรื่องพฤติกรรม เขาประหลาดใจว่าสิงโตขย้ำคอม้าลายหรือวิลเดอบีสต์ในธรรมชาติด้วย รวมถึงเรื่องปริมาณอาหารต่อวันเขาก็ไม่ทราบกัน ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงไม่คิดว่าสิงโตที่เลี้ยงอยู่ก็เป็นสัตว์ป่า

• ผู้เลี้ยงบางคนเลี้ยงสิงโตด้วยเหตุผลหลายกรณี ทั้งเพราะเอ็นดูความน่ารัก ความชอบ ใช้แสดงสถานะทางสังคมว่าเป็นคนมีหน้ามีตาที่ดีในกลุ่มคน และบางคนก็มีตามกระแสอินฟลูดังๆหลายคนที่คลุกคลีกับสิงโตจนมีคนอยากไปเลี้ยงสิงโตกันมากขึ้นนั่นเอง

• ปัญหาเรื่องเสียงคำราม บางคนเลี้ยงสิงโตใกล้ชุมชน ซึ่งเสียงคำรามของสิงโตจะเปล่งตลอดวัน (เช้ากับกลางคืนบ่อยสุด) เพื่อประกาศอาณาเขตไกลถึง 8 กิโลเมตร ระดับเสียง 80-100 เดซิเบล ในประเทศไทยเคยเกิดขึ้นกับกรณีสวนสัตว์แห่งหนึ่งที่ทะเลาะกับหมู่บ้านจัดสรรที่มาสร้างหลังสวนสัตว์หลายปี ทำให้สวนสัตว์ตัดปัญหาหยุดการเลี้ยงสิงโตในสวนสัตว์แห่งนั้นไปนานหลายปี

สิงโตกับการขนส่ง

• อย่างที่เป็นกรณีเฟซบุ๊คของผู้ใช้รายหนึ่ง ลงรูปขณะพาสิงโตไปส่งลูกค้า ซึ่งถือว่าลักษณะการขนส่งนี้ผิดหลักในการขนส่งสัตว์ ยิ่งเฉพาะสิงโตที่เป็นสัตว์ป่า การขนส่งควรจะใช้กรงขนาดใหญ่หรือบ็อกใส่สุนัขขนาดใหญ่เพื่อให้สิงโตถูกจำกัดพื้นที่เอาไว้ขณะเดินทาง

• ทั้งนี้ ตามหลักข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยระบุว่า ควรผูกล่ามสัตว์เลี้ยงไว้กับที่ห้ามปล่อยเดินไปเดินมา และไม่ควรเล่นกับสัตว์เลี้ยงขณะขับรถอยู่ ซึ่งมันคือความเสี่ยงสุดๆหากเกิดอุบัติเหตุใดขึ้นมาบนท้องถนน ฉะนั้นลักษณะการกระทำดังกล่าวที่ทุกคนเห็นในโซเชี่ยลจึงไม่ถูกต้องเลย”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Nateetorn S.

ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button