ข่าวอาชญากรรม

ท้าชน กลาโหม เปิดคำฟ้อง ทนายเจมส์ ฟันผิด 13 ทหาร ซ้อมพลทหารดับอนาถ

ยื่นฟ้องแพ่งกลาโหมกับ 13 ทหาร กว่า 4 ล้าน ทนายเจมส์ ตัวแทนสภาทนายความพาญาติพลทหาร เหยื่อก๊วนลายพรางรุมซ้อมทรมานตลอด 2 วัน จนเสียชีวิตอนาถ เหตุฉาวสนั่นค่ายวิภาวดีรังสิต มณฑลทหารบกที่ 45 สุราษฎร์ธานี เมื่อ 7 ปีก่อน

วันนี้ (16 ม.ค.) ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก “ทนายเจมส์” นายนิติธร แก้วโต ในฐานะคณะอนุกรรมการคดีสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เดินทางมายื่นฟ้องในคดีที่ นางเรณู หมดราคี ในฐานะทายาทโดยชอบธรรมของนายยุทธกินันท์ บุญเนียม ผู้ตาย เป็นโจทก์ฟ้อง “กระทรวงกลาโหม” และทหาร 13 นาย เป็นจำเลยที่ 1 ถึง 13 ในข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย 4,131,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี

Advertisements

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 60 พลทหารภูวเดช จำเลยที่ 3 ร่วมกับพวกจำเลยซึ่งเป็นทหารรวม 11 นาย ได้ร่วมกันละเมิดต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของ “พลทหารยุทธกินันท์” โดยทำร้ายจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยผู้ตายเป็นทหารกองประจำการรุ่นปี 2558 ผลัดที่ 1 กองร้อยมณฑลทหารบกที่ 45 ได้ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ประจำทหารสารวัตร โดยผู้ตายถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสม ดื้อดึง ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา จึงถูกส่งตัวกลับหน่วยต้นสังกัดเดิม พร้อมลงทัณฑ์ในข้อหากระทำผิดวินัยทหาร ถูกจำขังเป็นเวลา 15 วัน เมื่อถูกนำไปสั่งที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 15 มี ส.อ. จำเลยที่ 12 เป็นผู้คุมเรือนจำ ได้ทำการตรวจร่างกายพบว่าผู้ตายสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว แต่พบสารเสพติดในปัสสาวะ จึงนำตัวผู้ตายไปใส่เครื่องพันธนาการ (ตีตรวน) พร้อมรายงานให้ ร.ท. จำเลยที่ 13 โดยสั่งให้ผู้ตายออกกำลังท่าลุกหมอบจำนวน 300 ครั้งวันละ 3 เวลา ซึ่งเป็นการทำโทษผู้ต้องขังใหม่

วันเดียวกันเวลา 21.00 น. จำเลยที่ 4-11 นั่งดื่มสุราอยู่บริเวณม้านั่งหินอ่อนบริเวณเรือนจำกับจำเลยที่ 12-13 จนถึงเวลา 01.20 น. ของวันที่ 28 มี.ค. 60 ขณะผู้ตายนอนหลับอยู่หน้าห้องน้ำภายในห้องขัง จำเลยที่ 4, 5, 7 และ 11 เดินเข้ามาปลุกให้ผู้ตายลุกขึ้น พร้อมกับปลุกผู้ต้องขังอีก 3 คน ได้แก่จำเลยที่ 8, 9 และ 10 (พลทหาร) ให้เข้ามาหาผู้ตาย โดยจำเลยที่ 5 สั่งให้จำเลยที่ 8, 9, 10 รุมทำร้ายผู้ตายนานถึง 5 นาที และยังสั่งให้ทั้งสามคนจับผู้ตายกดหัวให้ติดกับลูกกรงในห้องขังอยู่ในลักษณะที่ยืนกางแขน และใช้ผ้ามัดแขนให้ติดกับลูกกรงและสั่งให้ทั้งสามคนรุมทำร้ายผู้ตายนาน 4 นาที จากนั้น จำเลยที่ 4, 5, 10 และ 11 ได้เข้ามารุมชกและใช้เท้าถีบผู้ตาย จากนั้นมีการสั่งให้รุมทำร้ายอีกหลายครั้ง ทำให้ผู้ตายมีอาการบาดเจ็บทุรนทุราย มีการใช้ถุงพลาสติกเจาะรูคลุมศีรษะผู้ตายนาน 1 นาที จนกระทั่งเวลา 02.01 นาฬิกาจำเลยทั้งหมดจึงออกจากห้องขังปล่อยให้ผู้ตายนอนเปลือยกายอยู่บนพื้น อีก 20 นาทีต่อมา จำเลยทั้งหมดเดินวนกลับมาทำร้ายผู้ตายอีกรอบ เมื่อถึงเวลา 03.40 นาฬิกา จำเลยที่ 8, 9 และ 10 ใช้ผ้าขาวม้าผูกข้อเท้ากับลูกกรงในลักษณะห้อยศีรษะลงมา และนำผ้าขนหนูชุบน้ำมาปิดหน้าผู้ตาย

กระทั่งเวลา 06.00 น. ผู้ต้องขังทั้งหมดถูกเรียกจากอาคารนอนมารวมแถวเพื่อเช็กยอด พลทหารได้ช่วยกันปลดผู้ตายออกจากลูกกรง ตัดกางเกงที่พันตัวผู้ตายและช่วยกันพยุงออกมาจากเรือนนอน โดยสิบเวรได้สั่งให้ผู้ตายยืนตากแดดหน้าโรงอาหาร ผู้ตายมีร่องรอยฟกช้ำตามร่างกาย และแผลแตกบริเวณคิ้ว จนยืนไม่ไหวจึงนอนฟุบตรงพื้น เมื่อจำเลยที่ 13 เดินมาเห็นกลับสั่งให้ผู้ช่วยสิบเวรนำผู้ตายไปอาบน้ำและนำมาที่โต๊ะอาหารก่อนจะนำไม้ไผ่ตีผู้ตายจำนวน 2 ครั้งโดยไม่มีการส่งไปพบแพทย์แต่อย่างใด และระหว่างวันที่ 29-30 มี.ค. ผู้ตายยังถูกสั่งให้ไปนอนตากแดดทั้งที่ร่างกายรับไม่ไหว ต่อมาในวันที่ 31 มี.ค.ผู้ตายมีอาการศีรษะบวมและมีไข้สูง จำเลยที่ 13 จึงส่งผู้ตายไปยังโรงพยาบาลวิภาวดี ก่อนที่แพทย์จะส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยแพทย์นิติเวชมีความเห็นว่า ผู้ตายมีบาดแผลหลายแห่งทั้งบาดแผลฉีกขาดกระจายทั่วร่างกาย สาเหตุการเสียชีวิตมาจากอาการไตวาย ภาวะเลือดเป็นกรด และไตทำงานหนัก การกระทำของจำเลยที่ 3 ถึง 13 เป็นการจงใจละเมิดให้ผู้ตายได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย และเสรีภาพ มีการนำผ้าขาวม้าผูกคอผู้ตายที่อยู่ในสภาพเปลือยกายจนมีอาการขาดอากาศหายใจ เมื่อจำเลยที่ 13 ทราบเรื่องกลับไม่ส่งตัวไปรักษาเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 3 ถึง 13 เป็นการละเมิดต่อผู้ตายให้ถึงแก่ความตายโดยทารุณและโหดร้าย

คดีนี้อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 45 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ถึง 13 ต่อมณฑลทหารบกที่ 45 โดยลงโทษจำเลยที่ 3, 4, 5 และ 8 ในความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยทรมานเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุกคนละ 6 ปี และลงโทษจำเลยที่ 6, 7, 9 และ 11 คนละ 8 ปี และจำเลยที่ 10 จำคุก 5 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 12 มีความผิดฐานขัดขืนละเลยมิกระทำตามข้อบังคับ และร่วมกันทำร้ายผู้อื่นฯ จำคุก 6 ปี จำเลยที่ 13 มีความผิดฐานขัดขืนละเลยฯ ฐานเป็นเจ้าหน้าที่แต่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ฯ และร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นฯ ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 13 มีกำหนด 3 ปี

การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 3-13 นอกจากจะเป็นความผิดทางอาญาแล้วยังเป็นการละเมิดผู้ตายรวมถึงมารดาของผู้ตาย จำเลยที่ 3-13 ต้องร่วมกันชดใช้สินไหมทดแทนแก่โจทก์ โดยทั้งหมดอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และ 2 จึงขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าทนทุกข์ทรมานจากการทำร้ายร่างกาย 80,000 บาท ค่าปลงศพ 700,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ เดือนละ 5,000 บาท คำนวณจนผู้ตายอายุ 60 ปี เป็นเงิน 2,280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 1,071,000 บาท รวมที่จำเลยทั้งหมดต้องชดใช้เป็นเงินทั้งสิ้น 4,131,000 บาท

Advertisements

คดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องคดีแบบอนาถา ศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีดำ หมายเลข พ 120/2568 นัดไต่สวนขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในวันที่ 28 ม.ค. 68 ในเวลา 09.00 น. และนัดชี้สองสถานในวันที่ 24 มี.ค. 68 เวลา 09.00 น.

นายนิติธร กล่าวว่า หลังศาลทหารมีคำพิพากษาในปี 2567 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งหมดและปรับโดยไม่รอลงอาญา วันนี้ (16 ม.ค.) จึงมายื่นฟ้องค่าเสียหายทางแพ่ง เนื่องจากศาลทหารไม่สามารถฟ้องแพ่งเข้าไปพร้อมกันได้จึงต้องแยกฟ้องกับศาลแพ่ง โดยเพิ่มการฟ้องกระทรวงกลาโหมและกองทัพบกที่เป็นต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 ถึง 13

ทั้งนี้ที่ผ่านมามารดาของผู้เสียชีวิตต้องอยู่อาศัยเพียงลำพังและขาดรายได้ ก่อนที่ทนายเจมส์จะมายื่นเรื่องให้คณะอนุกรรมการคดีสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งให้กับครอบครัว

อีกทั้งมารดาของพลทหารยุทธกินันท์ยังเรียกร้องความยุติธรรมมาโดยตลอด แต่คดีไม่คืบหน้าตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2565 จึงมีข่าวบนหน้าสื่ออีกครั้งหนึ่ง ต่อมาจึงมีการอธิบายว่าเป็นกระบวนการทางศาลทหารที่สืบได้แค่ครั้งละ 1 ปาก ทำให้ล่าช้า จนกองทัพบกออกมาอธิบายภายหลังถึงสาเหตุที่คดีนี้มีความล่าช้า เนื่องจากช่วงหนึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเริ่มสืบพยานอีกครั้งในปี 2566 และในปี 2567 ศาลได้พิพากษาจำเลยทั้ง 11 คนกระทำความผิดซึ่งมีทั้งทหารกองประจำการและทหารนอกกองประจำการที่อยู่ภายในเรือนจำ ที่ทั้งหมดได้รุมทำร้ายพลทหารยุทธกินันท์ โดยอ้างว่ามีความผิดในข้อหาไม่ฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาจึงรุมทำร้ายจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button