การเงินเศรษฐกิจ

เช็กด่วน ซื้อสินค้าเหล่านี้ ไม่ได้เงินคืนภาษี Easy E-Receipt 2568

เริ่มแล้ว ‘Easy E-Receipt 2.0’ ช้อป 16 ม.ค. – 28 ก.พ. 68 ลดหย่อนภาษี 2568 สูงสุด 50,000 บาท เช็กรายการสินค้าไม่ร่วมรายการ ก่อนเสียเงินฟรี พร้อมวิธีขอใบกำกับฯอิเล็กทรอนิกส์

เช็กให้ชัวร์ก่อนช้อป สำหรับบุคคลธรรมดาที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการ ‘Easy E-Receipt 2.0’ เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในปี 2568 จากการซื้อสินค้าและบริการในวันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท จากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์

Advertisements

สำหรับขาช้อปที่ต้องการซื้อสินค้า-บริการเพื่อลดหย่อนภาษีมีข้อควรระวังคือ ในจำนวนที่ใช้ลดหย่อนภาษี 50,000 บาท แบ่งออกเป็นการใช้จ่าย 2 กลุ่ม ประกอบด้วย การใช้ซื้อสินค้าและบริการที่เข้าร่วมรายการ อีกส่วนหนึ่งคือ การใช้จ่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคม ดังนี้

1. ซื้อสินค้าและบริการทั่วไป

การใช้จ่ายสินค้าและบริการทั่วไปสามารถเลือกซื้อของได้หลากหลาย ทั้งของกิน, อุปกรณ์ IT, ของแบรนด์เนม รวมทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท

2. ซื้อสินค้า OTOP, วิสาหกิจชุมชนและสังคม

ส่วนการใช้จ่ายสินค้าจำนวนไม่เกิน 20,000 บาท ประชาชนต้องใช้ในการซื้อของและบริการต่าง ๆ จากวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมทั้งสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)

Advertisements

สำหรับท่านที่กำลังมองหาร้านค้าที่ร่วมมาตรการ ‘Easy E-Receipt 2.0’ สามารถเช็กได้ในเว็บไซต์กรมสรรพากร เพียงไม่กี่ขั้นตอน เริ่มต้นจากเข้าสู่เว็บไซต์ www.etax.rd.go จากนั้นคลิกเลือกเมนูผู้ได้รับอนุมัติ เว็บไซต์จะปรากฏผู้ประกอบการที่ถูกตรวจสอบจากกรมสรรพากรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งสามารถออกใบเสร็จเพื่อนำไปยื่นลดหย่อนภาษีได้

ซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าใช้ลดหย่อนภาษี 2568 ได้

สินค้า-บริการ 8 ประเภท ไม่ได้เงินคืนภาษี Easy E-Receipt 2568

กรมสรรพากร ได้กำหนดรายการสินค้าและบริการที่ไม่เข้าร่วมมาตรการ Easy E-Receipt มีจำนวนทั้งสิ้น 8 รายการ หากท่านใดกำลังเดินทางไปเลือกซื้อของ อย่าลืมให้เช็กให้ดีก่อนว่าใช้ลดหย่อนภาษีปี 2568 ได้หรือไม่ มิฉะนั้นอาจเป็นการเสียเงินฟรี ๆ และใช้ในการยื่นลดหย่อนภาษีไม่ได้

1. ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์

2. ค่าซื้อยาสูบ

3. ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ

4. ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (รถจักรยานยนต์ รวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์) และค่าซื้อเรือ

5. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต

6. ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาของมาตรการ

7. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

8. ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พักโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

สินค้าที่ไม่ร่วมโครงการ Easy E-Receipt 2568
ภาพจาก : thaigov

วิธีขอใบเสร็จใช้ลดหย่อนภาษี 2568 ข้อมูลไม่สมบูรณ์ทำอย่างไร?

หลังจากซื้อสินค้า-บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต้องไม่ลืมว่าต้องขอเอกสารสำคัญเพื่อใช้ในการยื่นลดหย่อนภาษีจากผู้ประกอบการด้วย โดยผู้ซื้อสินค้าต้องแจ้งข้อมูลส่วนตัวเพื่อใช้ออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ได้แก่ ชื่อและนามสกุล ที่อยู่ และเลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจําตัวประชาชน)

เมื่อแจ้งข้อมูลส่วนบุคคลให้ร้านค้าทราบถูกต้องครบถ้วนแล้ว ข้อมูลการซื้อสินค้าและการรับบริการจะปรากฏใน My Tax Account ของผู้เสียภาษี และสามารถใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2568

ในกรณีที่ท่านพบว่าใบรับอิเล็กทรอนิกส์หรือใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์มีข้อมูลหรือไม่สมบูรณ์ เช่น เขียนชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด จะสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ กรมสรรพากรออกมาเฉลยแล้วว่า หาก e-Tax Invoice มีรายการครบถ้วน แม้จะมีการระบุชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด ก็สามารถนํามาใช้หักลดหย่อนได้

อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าทุกท่านควรตรวจสอบว่าเลขประจําตัวประชาชนของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการถูกต้องหรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการใช้ข้อมูลยื่นแบบแสดงรายการภาษี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button