เปิดประวัติ พระอาจารย์ต้น นักเผยแผ่ยุคใหม่ด้วยหลัก ธรรมนาวา
เปิดประวัติ พระอาจารย์ต้น จากพระนักเผยแผ่ธรรมะสู่การพัฒนาเยาวชนและการสร้างปัญญา เผยแนวคิด ‘ธรรมนาวา’ ในการพัฒนาชีวิตและจิตวิญญาณ
ในวงการพระพุทธศาสนายุคใหม่ “พระอาจารย์ต้น” หรือ พระทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ ได้กลายเป็นหนึ่งในพระนักเผยแผ่ธรรมะที่มีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเผยแผ่หลักการปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า “ธรรมนาวา” ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติจริงเพื่อการดับทุกข์ และเข้าถึงความสุขที่แท้จริง โดยพระอาจารย์ต้นได้นำหลักธรรมที่เรียนรู้จากพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพชีวิตปัจจุบัน
ประวัติพระอาจารย์ต้น
พระอาจารย์ต้นอุปสมบทในปี 2543 ขณะที่มีอายุเพียง 24 ปี ณ วัดสุมังคลาราม จ.ยโสธร และได้รับฉายาว่า “จารุวณฺโณ” ท่านได้ศึกษาและติดตามคำสอนจากหลวงปู่คำสุข ญาณสุโข วัดซับคำกอง อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ขาว วัดถ้ำกองเพล ก่อนที่พระอาจารย์ต้นจะได้เผยแพร่หลักการ “ธรรมนาวา” อย่างต่อเนื่องผ่านการบรรยายธรรม หนังสือ และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ
นอกจากการเผยแผ่ธรรมะแล้ว พระอาจารย์ต้นยังได้ก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมธรรมนาวาในจังหวัดเชียงรายและจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้สนใจได้เข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง โดยไม่เน้นพิธีกรรมหรือความเชื่อ แต่เน้นการปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดการเข้าใจในสัจธรรมของชีวิต
หลักธรรมนาวา คืออะไร?
“ธรรมนาวา” เป็นหลักธรรมที่เน้นการปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยการเจริญสติ การภาวนา และการพิจารณาธรรม เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถละความยึดมั่นถือมั่นซึ่งเป็นสาเหตุของทุกข์ สอนให้ผู้คนมองเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ทุกข์หรือการละทิ้งความยึดมั่นไปจากมัน
พระอาจารย์ต้นเน้นว่า ธรรมนาวาไม่ได้แค่เป็นการเรียนรู้ในระดับทฤษฎี แต่เป็นการนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปัญญาที่จะดับทุกข์ได้อย่างยั่งยืน
มุมมองใหม่ การตีความและแนวทางการปฏิบัติธรรมนาวา
พระอาจารย์ต้นได้ใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook, YouTube, TikTok รวมถึงการบรรยายธรรมตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเผยแผ่หลักธรรมนาวาสู่สาธารณชน ท่านยังได้จัดทำหนังสือหลายเล่มที่กล่าวถึงหลักการปฏิบัติธรรมและการดำเนินชีวิตตามสัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาด้วยตนเอง
แม้ว่า ธรรมนาวา จะได้รับความนิยมและการยอมรับอย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์จากบางกลุ่มที่ตั้งคำถามถึงความแตกต่างของคำสอนและการตีความพระธรรมในมุมมองใหม่ ๆ ของพระอาจารย์ต้น อย่างไรก็ตาม ท่านยืนยันว่า ธรรมนาวาเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการปฏิบัติที่ไม่ขัดแย้งกับหลักธรรมดั้งเดิม แต่อยู่บนพื้นฐานของการเข้าใจแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ในหลวงพระราชทานปฏิทิน ธรรมนาวาวัง-การ์ดอวยพรปีใหม่ 2568 แก่คนไทย
- ซึ้งพระธรรม ลุงโยธิน ดารารับบทพระในละคร ลาบวชตลอดชีวิต
- เปิดประวัติ ครูใหญ่ สุวิทย์ ตชด. เสียสละเพื่อนักเรียน คนร้ายวางระเบิดเสียชีวิต
อ้างอิง: ธรรมนาวา Dhammanava