เหยื่อสินเชื่อความสุข เกือบคิดสั้น แจ้งเตือนให้กู้เงินกว่า 60 เจ้าจนหนี้พุ่ง 7 แสน
สินเชื่อความสุขคืออะไร สาวเปิดใจกู้เงินผ่านแอปฯ ในมือ ดอกโหด Oppo และ Realme สมัครไม่นานเจอแอดไลน์ทวงหนี้ โทรหาญาติใกล้ชิดจนอับอายเกือบคิดสั้น
ความเสียหายซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากกรณี Oppo และ Realme สมาร์ทโฟนค่ายดังถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีถูกตรวจสอบพบว่ามีการติดตั้งแอปพลิเคชันสินเชื่อ “Fineasy” และ “สินเชื่อความสุข” แบบอัตโนมัติ ล่าสุดเรื่องเล่าเช้านี้ไปสัมภาษณ์ น.ส.เอ๋ หญิงสาวรายหนึ่งซึ่งตกเป็นผู้เสียหายจากประเด็นสืบเนื่องดังกล่าว โดยเธอเล่าว่าหลังจากได้หลงสมัครแอปพลิเคชั่นปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ปรากฎชีวิตต้องมาตกอยู่ในวังวนกับดักหนี้ท่วมหัว โดยปัจจุบันมียอดค้างชำระกว่า 7 แสนบาท
คุณเอ๋เล่าว่าปลายเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว มีความจำเป็นต้องใช้เงิน 50,000 บาท จากนั้นโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ “ออปโป้” มีการส่งข้อความ-ส่งลิงก์เข้ามาในมือถือระบุว่า ปล่อยสินเชื่อออนไลน์ผ่านแอปฯ “สินเชื่อความสุข”
ด้วยความที่ผู้เสียหายมีเหตุจำเป็นที่จะใช้เงินเร่งด่วนจึงตัดสินใจโหลดแอปฯ ดังกล่าว จากนั้นสมัครสมาชิกโดยมีการกรอกรายละเอียดซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัว อาทิ เลขบัตรประชาชน-เบอร์โทรศัพท์ รวมถึงให้ยืนยันตัวตนด้วยการถ่ายภาพเซลฟี่ใบหน้าตัวเองกับบัตรปชช. เพื่อลงทะเบียน
ผู้เสียหายยืนยันตั้งแต่สมัครแอปฯ สินเชื่อความสุขจแล้วเสร็จทุกขั้นตอนก็พบว่า ในมือถือของเธอเองมีแอปของบริษัทให้บริการเงินกู้ออนไลน์จำนวนมาก ช่วงแรกประมาณ 10 กว่าบริษัท เมื่อกู้เงินในแอปไปบริษัทเงินกู้ในมือถือจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันในมือถือมีรายชื่อบริษัทปล่อยกู้ราว 50-60 บริษัทด้วยกัน
นอกจากนี้แต่ละบริษัทกำหนดระยะเวลาชำระเงินคืนภายใน 7 วัน แต่ความจริงประมาณวันที่ 5-6 เท่านั้นที่กู้เงินไปบริษัทที่ปล่อยกู้จะมีการโทรมาทวงหนี้ และอ้างว่าเป็นระเบียบของบริษัทที่จะต้องทวงหนี้ก่อนถึงวันครบกำหนดจ่าย โดยข้อมูลจากเหยื่อรายนี้ยังทราบถึงอัตรา “ดอกเบี้ยหฤโหด” ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปมีทั้งกู้ 10,000 บาท ได้เงินมาใช้จริง 7,000 บ. ก็มี หรือบางบริษัทกู้ 10,000 บ. ได้จริง 5,500 บ. หมุนเวียนและกู้วนเป็นงูกินหางแบบนี้กระทั่งกลายเป็นดินพอกหางหมู
เหยื่อสารภาพเวลาเพียงแค่ 2 เดือน ได้กู้เงินจากบริษัทที่อยู่ในแอปฯ สินเชื่อความสุข ทั้งหมด 48 เจ้า วงเงินรวมทั้งหมด 700,000 บาท จากเบื้องต้นที่เริ่มกู้ครั้งแรกเพียง 50,000 บ. เท่านั้นไม่พอสิ่งที่ทำให้เหยื่อเครียดที่สุด คือการที่บริษัทปล่อยกู้โทรไปหาญาติๆ และคนสนิทในครอบครัวซึ่งเป็นรายชื่อที่มีอยู่ในมือถือเพื่อติดตามการชำระหนี้เงินกู้
เมื่อไม่รู้จะหาเงินจากที่ไหน เหยื่อจึงคิดอยากฆ่าตัวตายเนื่องจากบริษัทกู้เข้าไปในเฟซบุ๊กและไป Copy รูปในเฟซบุ๊กมาข่มขู่ ว่าถ้าไม่มีจ่ายจะประจาน จนมีครั้งหนึ่งตัดสินขึ้นไปอยู่บนตึกลานจอดรถระหว่างจะก้าวขากระโดดได้ยินเสียงพ่อแม่ที่เสียชีวิตไปนานแล้วจึงเปลี่ยนใจไม่กระโดด
สุดท้ายคุณเอ๋ อดีตเหยื่อสินเชื่อความสุขได้ทำการปิดหนี้จากแอปฯดังกล่าวแล้ว โดยเจ้าตัวสารภาพว่าญาติและครอบครัวได้ช่วยเคลียร์หนี้สินจำนวนวงเงิน 7 แสนบาทจนหมดตั้งแต่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนที่นำเรื่องราวมาเปิดโปงเพราะไม่อยากให้ใครต้องตกเป็นเหยื่อแบบเดียวกันอีก
ทั้งนี้ แม้อัปเดตล่าสุดทาง ‘OPPO-Realme’ ออกมาแถลงโดยแจ้งยุติการติดตั้งแอปพลิเคชั่นซึ่งตั้งแต่วันนี้ (14 ม.ค.68) โทรศัพท์ใหม่ที่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาการติดตั้งแอป Fineasy ล่วงหน้าจะไม่ถูกจำหน่ายอีกต่อไป เช่นเดียวกับจะหยุดการติดตั้งแอปฯ ล่วงหน้าของแอปฯ สินเชื่อของบุคคลที่สามทั้งหมดในอุปกรณ์ของ OPPO และตั้งแต่ 16 ม.ค.เป็นต้นไป ผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนจะได้รับการอัปเดต OTA (Over-the-Air) ซึ่งเป็นเวอร์ชันระบบใหม่ที่ไม่มีการติดตั้งแอปฯ Fineasy อีกต่อไป
อย่างไรก็ดีในส่วนของสภาองค์กรของผู้บริโภค เน้นย้ำว่าการติดตั้งแอปพลิเคชั่นโดยไม่ได้รับความยินยอมนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในมาตรา 4 (2) ของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ด้วยเหตุนี้สภาผู้บริโภคจึงคาดหวังว่าภาครัฐจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและลงโทษบริษัทผู้ที่กระทำผิด รวมถึงสั่งปรับบริษัทที่ให้บริการกู้เงินเกิน 2 พันบาทแล้วไม่มีสัญญา.
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- สคบ.เตรียมเรียก OPPO-Realme คุย กังวลข้อมูลรั่วไปถึงจีน
- สั่งหยุดขาย OPPO Realme รุ่นติดตั้งแอป สินเชื่อความสุข
- เปิดข้อมูล แอปเงินกู้ Fineasy บนมือถือ OPPO-realme ใครเป็นเจ้าของ