ข่าว

วิธีเตรียมตัว สอบ ก.พ.68 สมัครสอบแล้ว ต้องทำอะไรต่อ

พิชิตฝันข้าราชการ เปิดคัมภีร์ วิธีเตรียมตัว สอบ ก.พ. 2568 สมัครสอบแล้ว ต้องวางแผนอย่างไรให้สอบผ่าน สรุปข้อมูลทุกอย่างที่ผู้สมัครสอบต้องรู้

เส้นทางสู่การเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญนั้น ด่านแรกที่ทุกคนต้องเผชิญก็คือ การสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป หรือที่เรียกกันว่า “สอบ ก.พ.” นั่นเอง สำหรับปี 2568 นี้ สำนักงาน ก.พ. ได้เปิดรับสมัครสอบทั้งแบบ อี-เอ็กซ์แซม (e-Exam) ตั้งแต่วันที่ 8 ไปจนถึงวันที่ 28 มกราคม 2568 ส่วนรอบ เปเปอร์ แอนด์ เพนซิว (Paper & Pencil) จะเปิดรับสมัครในวันที่ 30 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ 2568

Advertisements

หากคุณคือหนึ่งในผู้ที่สมัครสอบ ก.พ. 2568 ไปแล้ว คงเกิดคำถามมากมายในใจว่า แล้วจากนี้ต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องสอบได้คะแนนเท่าไหร่, ประกาศผลเมื่อไหร่, แนวข้อสอบเป็นแบบไหน และถ้าสอบผ่านหรือไม่ผ่านจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ทีมงาน เดอะ ไทยเกอร์ ได้รวบรวมข้อมูลสำคัญทุกอย่างไว้แล้วในบทความนี้เสมือนเป็นคัมภีร์คู่มือที่จะช่วยให้คุณพิชิตฝันการเป็นข้าราชการได้อย่างมั่นใจ

สมัครสอบ ก.พ. แล้ว ก้าวต่อไปต้องทำอะไร

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าการสอบ ก.พ. คือ การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของผู้ที่ต้องการเข้ารับราชการ จัดโดยสำนักงาน ก.พ. มี 3 ภาค ได้แก่

  • ภาค ก. วัดความรู้ความสามารถทั่วไป เช่น ภาษาไทย อังกฤษ ความรู้ทั่วไป และการคิดวิเคราะห์
  • ภาค ข. วัดความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง
  • ภาค ค. สอบสัมภาษณ์

หลังจากสมัครสอบ ก.พ. เรียบร้อยแล้ว สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการทบทวนเนื้อหา ฝึกฝนทำข้อสอบ และวางแผนการเดินทางไปยังสนามสอบ

หมั่นตรวจสอบประกาศและข้อมูลข่าวสารจากสำนักงาน ก.พ. อย่างสม่ำเสมอ ทั้งทางเว็บไซต์ สำนักงาน ก.พ. (OCSC) หรือเฟซบุ๊ก

นอกจากนี้ ผู้ที่สมัครสอบ ก.พ. 68 เสร็จสมบูรณ์แล้ว จะต้องไม่ลืมพิมพ์ “บัตรประจำตัวสอบ” อีกครั้งในวันที่ 14 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป ด้วยนะครับ

Advertisements

เอกสารสำคัญก่อนสมัครสอบ ก.พ. 68

1. บัตรประจำตัวประชาชน

2. ไฟล์รูปถ่ายของตนเอง

  • เป็นรูปถ่ายหน้าตรง
  • พื้นหลังไม่มีลวดลาย
  • ไม่สวมหมวก
  • ประเภทของไฟล์เป็น .JPG (ความละเอียดไม่น้อยกว่า 40 KB)
  • ห้ามสวมแว่นตา
  • ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน
  • ต้องเป็นรูปที่ใช้ในการสมัครงาน

3. ข้อมูลส่วนตัวและรหัสผ่าน

ทั้งนี้ ผู้สมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Exam) ในครั้งนี้ จะไม่ถูกจำกัดสิทธิ ในการสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปในรูปแบบอื่น ๆ ประจำปี 2568

สมัครสอบ ก.พ. แล้ว ก้าวต่อไปต้องทำอะไร เตรียมอะไรบ้าง

ต้องสอบ ก.พ. ได้กี่คะแนนจึงจะผ่านเกณฑ์

สำหรับเกณฑ์คะแนนสอบ ก.พ. 2568 จะแตกต่างกันไปตามระดับวุฒิการศึกษา โดยมีรายละเอียดแบ่งตามรายวิชา ได้แก่ วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์, วิชาภาษาอังกฤษ และวิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดีดังนี้

1. วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (คณิตศาสตร์ และภาษาไทย) คะแนนเต็ม 100 คะแนน

1.1 วุฒิระดับต่ำกว่าปริญญาตรี (ปวช. ปวท. ปวส. อนุปริญญา) และวุฒิระดับปริญญาตรี

  • ต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 (สอบได้ 60 คะแนนขึ้นไป)

1.2 วุฒิระดับปริญญาโท

  • ต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 (สอบได้ 65 คะแนนขึ้นไป)

2. วิชาภาษาอังกฤษ คะแนนเต็ม 50 คะแนน

2.1 วุฒิระดับต่ำกว่าปริญญาตรี (ปวช. ปวท. ปวส. อนุปริญญา) และวุฒิระดับปริญญาตรี

  • ต้องทำคะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 (สอบได้ 25 คะแนนขึ้นไป)

2.2 วุฒิระดับปริญญาโท

  • ผู้สอบต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 (สอบได้ 25 คะแนนขึ้นไป)

3. วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี คะแนนเต็ม 50 คะแนน

3.1 วุฒิระดับต่ำกว่าปริญญาตรี (ปวช. ปวท. ปวส. อนุปริญญา) และวุฒิระดับปริญญาตรี

  • ต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 (สอบได้ 30 คะแนนขึ้นไป)

3.2 วุฒิระดับปริญญาโท

  • ต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 (สอบได้ 30 คะแนนขึ้นไป)

สอบได้คะแนนแต่ละวิชาเท่าไหร่ถึงจะผ่านเกณฑ์

สอบ ก.พ. ผ่านแล้วทำยังไงต่อ

ผู้สมัครที่สอบผ่าน ก.พ. ครบทุกวิชา ในส่วนของ ภาค ก. จะสามารถพิมพ์หนังสือรับรองการสอบบนเว็บไซต์ เพื่อนำผลสอบดังกล่าว ไปสมัครงานในหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และใช้ใบรับรองดังกล่าวในการเข้าสอบภาค ข และภาค ค ของแต่ละตำแหน่งและหน่วยงานที่เปิดรับได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น

  1. ข้าราชการพลเรือนสามัญ
  2. ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา
  3. ข้าราชการตำรวจ
  4. ข้าราชการทหาร
  5. พนักงานรัฐวิสาหกิจ
  6. พนักงานส่วนท้องถิ่น

หมายเหตุ : หน่วยงานบางแห่งอาจกำหนดให้ใช้คะแนนสอบเฉพาะบางวิชา หรือกำหนดคะแนนขั้นต่ำที่แตกต่างกัน ผู้สมัครควรตรวจสอบคุณสมบัติ และเงื่อนไขในการสมัครงานของแต่ละหน่วยงานให้ละเอียด

สมัครข้าราชการด้วยคะแนน ก.พ. 2568

คะแนน ก.พ. นำไปใช้กับอะไรได้บ้าง มีอายุกี่ปี

คะแนน ก.พ. ไม่ได้มีไว้แค่สมัครทำงานในตำแหน่งของหน่วยรัฐราชการหรือรัฐวิสาหกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่บางหน่วยงานอาจใช้คะแนน ก.พ. เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนขั้นเงินเดือน

อย่างไรก็ตาม คะแนนสอบ ก.พ. ภาค ก. มีอายุ 2 ปี นับจากวันที่ประกาศผลสอบ ผู้สมัครควรวางแผนการใช้ใบรับรอง ก.พ. ให้ดี ๆ นะครับ

กรณีคนที่สอบ ก.พ. ไม่ผ่าน อย่าเพิ่งท้อแท้ สามารถสมัครสอบใหม่ได้ในการสอบครั้งถัดไป โดย วิเคราะห์ข้อสอบ และหาจุดบกพร่องของตนเอง เพื่อปรับปรุง และพัฒนาในการสอบครั้งต่อไป ศึกษาเนื้อหาเพิ่มเติม ฝึกทำข้อสอบให้มากขึ้น และบริหารเวลาให้ดี และเมื่อสำนักงาน ก.พ. เปิดรับสมัครสอบครั้งต่อไป อย่าลืมสมัครสอบ และเตรียมตัวให้พร้อม

ถ้าไม่สอบภาค ก. ข้ามไปสอบ ข. กับ ค. ได้ไหม?

ปกติแล้วการสอบเข้ารับราชการจะต้องสอบผ่านภาค ก. ก่อน จึงจะมีสิทธิสอบภาค ข. และ ภาค ค. อย่างไรก็ตาม หน่วยงานบางแห่งอาจมีการจัดสอบภาค ข. และ ภาค ค. โดยไม่กำหนดให้ต้องมีคะแนนสอบภาค ก. ผู้สมัครควรตรวจสอบประกาศรับสมัครงานของหน่วยงานนั้น ๆ ให้ละเอียด

การสอบภาค ข และภาค ค คืออะไร

สำหรับการสอบ ภาค ข เป็นการสอบที่เน้นความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร เช่น นักวิเคราะห์นโยบายและแผน นิติกร เจ้าพนักงานสาธารณสุข เป็นต้น

รูปแบบการสอบอาจเป็นข้อเขียน สอบปฏิบัติ หรือทดสอบร่างกาย ขึ้นอยู่กับลักษณะงานของแต่ละตำแหน่ง ผู้สมัครต้องสอบผ่านภาค ก. และมีคุณสมบัติตรงตามที่ประกาศรับสมัคร จึงจะมีสิทธิสอบภาค ข. หน่วยงานที่เปิดรับสมัครจะเป็นผู้ดำเนินการสอบ โดยอาจมี ก.พ. ร่วมเป็นกรรมการคัดเลือกด้วย

ส่วนการสอบ ภาค ค เป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อประเมินบุคลิกภาพ ความเหมาะสมกับตำแหน่ง ทัศนคติ และความสามารถในการสื่อสาร ผู้สมัครต้องสอบผ่านภาค ก. และ ภาค ข. จึงจะมีสิทธิสอบสัมภาษณ์ คณะกรรมการสัมภาษณ์จะพิจารณาจากคุณสมบัติ ประวัติ และการตอบคำถาม เพื่อคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมที่สุด

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานบางแห่งอาจมีการทดสอบเพิ่มเติมในภาค ค. เช่น ทดสอบร่างกาย หรือทดสอบจิตวิทยา ขึ้นอยู่กับลักษณะงานและนโยบายของหน่วยงานนั้น ๆ

เอกสาร ก.พ. มีอายุกี่ปี

สถานที่สอบ ก.พ. 68 ทั้งหมด 22 แห่ง

สำนักงาน ก.พ. ได้จัดเตรียมสถานที่สอบไว้ 22 ศูนย์สอบทั่วประเทศ 1 โดยผู้สมัครสามารถเลือกศูนย์สอบที่สะดวกได้ 1 แบ่งออกทั้งหมด 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย

ภาคกลาง

  1. ม.ราชภัฏพระนคร กรุงเทพฯ 8,550 ที่นั่ง
  2. ม.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 15,450 ที่นั่ง
  3. ม.ราชภัฏสวนสุนันทา กรุงเทพฯ 17,295 ที่นั่ง
  4. ม.ศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพฯ 4,140 ที่นั่ง
  5. ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต 6,585 ที่นั่ง
  6. ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปทุมธานี 6,750 ที่นั่ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)

  1. ม.ขอนแก่น 6,000 ที่นั่ง
  2. ม.อุบลราชธานี 8,250 ที่นั่ง
  3. ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ 6,150 ที่นั่ง
  4. ม.ราชภัฏอุดรธานี 4,200 ที่นั่ง
  5. ม.ราชภัฏนครราชสีมา 6,000 ที่นั่ง
  6. ม.เทคโนโลยีสุรนารี นครราชสีมา 2,400 ที่นั่ง

ภาคตะวันออก

  1. ม.ราชภัฏรำไพพรรณี จันทบุรี 15,000 ที่นั่ง

ภาคตะวันตก

  1. ม.ราชภัฏกาญจนบุรี 7,500 ที่นั่ง

ภาคเหนือ

  1. ม.แม่ฟ้าหลวง เชียงราย 6,150 ที่นั่ง
  2. ม.ราชภัฏเชียงราย 7,500 ที่นั่ง
  3. ม.แม่โจ้ เชียงใหม่ 13,500 ที่นั่ง
  4. ม.ราชภัฏลำปาง 6,750 ที่นั่ง

ภาคใต้

  1. ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี 10,500 ที่นั่ง
  2. ม.วลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช 7,500 ที่นั่ง
  3. ม.ทักษิณ สงขลา 9,750 ที่นั่ง
  4. ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานี 5,250 ที่นั่ง
สรุปแนวข้อสอบ ก.พ. 2568
สรุปแนวข้อสอบ ก.พ. 2568

สรุปแนวข้อสอบ ก.พ. 68 รู้ก่อน ได้เปรียบ

สำนักงาน ก.พ. เผยแนวข้อสอบภาค ก. ประจำปี 2568 เน้นวัด 3 ทักษะหลัก คิดวิเคราะห์-ภาษาอังกฤษ-ความรู้ข้าราชการ คะแนนเต็ม 200 คะแนน ชี้ชัด เตรียมตัวถูกจุด พิชิตฝันข้าราชการได้ไม่ยาก

สำหรับ วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (100 คะแนน) ปีนี้ยังคงวัดความสามารถรอบด้าน ทั้ง “การคิดวิเคราะห์เชิงภาษา” ที่ทดสอบการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ทั้งการอ่านจับใจความ การสรุปความ การตีความ รวมถึงการทำความเข้าใจบทความ ข้อความ และสถานการณ์ต่างๆ

ต่อกันด้วย การคิดวิเคราะห์เชิงนามธรรม วัดความสามารถในการหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงของคำ ข้อความ รูปภาพ การวิเคราะห์หาสมเหตุสมผล จากสัญลักษณ์ หรือแบบจำลองที่กำหนดให้

ปิดท้ายด้วย การคิดวิเคราะห์เชิงปริมาณ ประเมินความเข้าใจ การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์เบื้องต้น การเปรียบเทียบเชิงปริมาณ และการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเพียงพอ

ส่วน วิชาภาษาอังกฤษ (50 คะแนน) ยังคงวัดทักษะการสื่อสาร โดยเน้นการใช้คำศัพท์ สำนวน และโครงสร้างประโยคที่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งในแง่ความหมายและบริบท รวมถึงทดสอบการอ่านจับใจความจากบทความ และการเขียนภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐาน

สำหรับวิชาสุดท้าย ความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี (50 คะแนน) มุ่งทดสอบความรู้พื้นฐานของการเป็นข้าราชการ ครอบคลุมทั้งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน รวมถึงการมีเจตคติและจริยธรรมที่เหมาะสมในฐานะข้าราชการ

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงประกาศรับสมัครสอบ และข้อมูลสำคัญอื่นๆ ได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน ก.พ. และช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของสำนักงาน ก.พ.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : สำนักงาน ก.พ.

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button