ผู้ว่าการการประปาแม่สอด ลงตรวจเข้ม-คุมอหิวาต์ระบาด ยันไม่กระทบน้ำประปา
ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาแม่สอด และทีมควบคุมคุณภาพน้ำ กปภ.ข.10 (LAB CLUSTER จ.ตาก) ต้อนรับคณะผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบการผลิตน้ำประปาสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพน้ำประปา สะอาด ปลอดภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาด “อหิวาตกโรค” พื้นที่ชายแดนเมียวดี ประเทศเมียนมา
นายสุทธิชัย ไทยกล้า ผจก.กปภ.สาขาแม่สอด พร้อมทีมงานควบคุมคุณภาพน้ำ กปภ.ข.10 ให้การต้อนรับ นายแพทย์สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และนายชาลี เอี่ยมมา ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 พร้อมคณะ ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจตรวจสอบกระบวนการผลิตน้ำประปาของกปภ.สาขาแม่สอดและมาตรการป้องกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดอหิวาตกโรคในพื้นที่ชายแดนเมียวดี ประเทศเมียนมา
โดยคณะผู้ตรวจราชการฯ ได้รับฟังข้อมูลรายงานกระบวนการยกระดับและเพิ่มมาตรการป้องกันควบคุมคุณภาพน้ำ จากนั้นเข้าตรวจสอบกระบวนการผลิตน้ำประปาของ กปภ.สาขาแม่สอด, ตรวจสอบแหล่งน้ำดิบที่ กปภ.สาขาแม่สอดใช้ผลิตน้ำประปา, ตรวจสอบกระบวนการควบคุมคุณภาพน้ำและมาตรการการยกระดับเพิ่มอัตราการจ่ายคลอรีนระบบต้นทางและปลายเส้นท่อ
หลังเสร็จภารกิจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข พร้อม ผจก.กปภ.สาขาแม่สอด ได้ร่วมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเน้นย้ำถึงความสะอาด ปลอดภัย และความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตน้ำประปาแก่สื่อมวลชน ที่ติดตามคณะฯ ลงพื้นที่ทำข่าวและตรวจสอบข้อเท็จจริง
ขณะเดียวกัน คลินิกชุมชนอบอุ่น เทศบาลนครแม่สอด เปิดเผยแนวทางการรับมือโรคอหิวาตกโรคของเทศบาลนครแม่สอด ประกอบด้วยแนงทางปฏิบัติตามรายละเอียดด้านล่างนี้
1. งานสอบสวนโรคร่วมกับโรงพยาบาลแม่สอด จำนวน 3 ราย ได้แก่ ชุมชนดอนไชย 1 ราย ชุมชนร่วมแรง 1 ราย ชุมชนวัดหลวง 1 ราย
- ลงพื้นที่สอบสวนโรคและค้นหาผู้สัมผัสของผู้ป่วยทั้ง 3 ราย เพื่อตรวจหาเชื้อและจ่ายยาแก่ผู้สัมผัสทุกราย
- เตรียมทีมสอบสวนโรค พร้อมทำงานในวันหยุดยาว 28 ธันวาคม 2567 – 1 มกราคม 2568
2. การควบคุมการแพร่ระบาด
- ลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนร่วมแรงและชุมชนดอนไชย ที่มีอาการถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ อาเจียนตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2567 เป็นต้นมาทั้งคนไทยและต่างชาติ ให้ที่ทำการชุมชนเพื่อตรวจหาเชื้อและรับยา และใส่คลอรีนในบ่อน้ำทุกบ่อ
- ให้ อสม.อีก 18 ชุมชน ในพื้นที่สำรวจจำนวนบ่อน้ำทั้งหมด เพื่อดำเนินการใส่คลอรีนทุกบ่อ เน้นบ่อที่มีชาวต่างชาติใช้จำนวนมาก รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในพื้นที่ที่มีการพบผู้ป่วย เช่น ห้องน้ำ บ่อน้ำ หรือแหล่งน้ำที่ใช้ร่วมกัน
- สำรวจบ่อน้ำในวัด เพื่อดำเนินการใส่คลอรีน
3. ให้ข้อมูลแก่ประชาชน
- ทำข่าวประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ชุมชน 20 ชุมชน โรงเรียนและวัดในเขตเทศบาล
4. การรักษาผู้ป่วย
- ปฏิบัติตามแนวทางการรักษาของโรคอหิวาตกโรค กรณีมีผู้ป่วยสงสัยในหน่วยบริการ ให้ทีมสอบสวนโรคสอบสวนโรคเฉพาะรายทุกราย รวมถึงตรวจ rectal swap และจ่ายยาทุกราย
5. การประสานงานอื่นๆ
- ประสานกองสาธารณสุขเรื่องการล้างตลาดและการควบคุมสิ่งแวดล้อม