เสียงแตก แจกโบนัสพนง.ไม่ใช้สิทธิลาหยุด รางวัลที่ 1 พักร้อนไม่ใช้-เข้าสายไม่เคย
แชร์สนั่น คลิปนักข่าวดังแจกโบนัส ให้พนักงานที่ไม่เคยลาหยุดตลอดปี ชื่นชมคุณคือผู้เสียสละ โซเชียลเสียงแตก สิทธิวันลาตามกฎหมาย ไม่ควรนำมาคิดคะแนน
โซเชียลถกสนั่น หลังมีคลิป “นักข่าวดังช่องใหญ่” ยืนแจกเงินโบนัสเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับพนักงานฝ่ายข่าว โดยได้พูดถึงการมอบรางวัลพิเศษให้กับคนที่ไม่ใช้สิทธิลาหยุดเลย โดยระบุว่า “ทั้งปีที่ผ่านมาต้องขอชื่นชมมีบางคนไม่ใช้สิทธิลาหยุดเลย ทั้งปีเขาใช้สิทธิแค่วันเดียว…รางวัลที่ 1 ที่จับฉลากผมว่าน้อยไปสำหรับเขา เขาควรจะต้องได้มากกว่ารางวัลที่ 1 เพราะถือว่าเขาเสียสละกับงาน คนอื่นที่ไม่ได้ก็อย่าโกรธกันนะ เพราะผมก็รู้ว่ามีนักข่าวบางคนไม่ได้หยุดเลย อันนี้เดี๋ยวเราค่อยคุยกันส่วนตัว”
“สำหรับแผนกอื่น ๆ ผมว่าอันนี้คือแบบอย่างของการทำงานที่มีความเสียสละ ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้พวกคุณหยุดนะ แต่สะท้อนว่าคนทำงานแบบนี้มีอยู่จริง สิทธิพักร้อนน่าจะได้ 7 วันหรือ 10 วัน เขาก็ไม่ใช้ มาสายเขาก็ไม่มา วันนี้เอาในกองก่อนเนอะ จริง ๆ ผมเตรียมไว้ให้พิเศษสำหรับเขา เพราะผมถือว่าต้องมีคนแบบนี้เวลาจะสู้ทำงานด้วยกัน”
“งานเราไม่ใช่งานง่าย งานเราเป็นงานยาก ต้องอาศัยความสามัคคี อาศัยความร่วมมือ อาศัยความเสียสละ คุณเป็นแบบอย่างของความเสียสละ แล้วผมก็ประทับใจคุณมาก คุณอาจจะไม่ใช่คนเก่งที่สุด แต่ผมถือว่าคุณเป็นคนที่มีค่าที่สุดในกองนี้”
นอกจากนี้นักข่าวคนดังกล่าวยังเอ่ยประโยคชื่นชมอีกครั้ง ก่อนที่จะมอบเงินจำนวนหนึ่งให้กับพนักงานผู้อุทิศตนให้กับบริษัทด้วย โดยระบุว่า “อาจจะไม่ได้เอ่ยคำชมเยอะที่สุด เวลาประชุมก็บ่นเยอะที่สุด แต่ให้รู้ไว้ว่าคุณสุดยอดที่สุด ขอบคุณมาก”
หลังจากมีผู้ใช้ X (ทวิตเตอร์) รายหนึ่งนำคลิปดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อ ประเด็นเรื่องการประเมินคุณค่าและความตั้งใจของพนักงาน จากการใช้สิทธิวันลาถูกพูดถึงอย่างมาก
หลายคนวิจารณ์ว่าบริษัทส่วนใหญ่ชอบนำการใช้วันลาไปคิดเป็นคะแนนการทำงาน ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็น “สิทธิที่ลูกจ้าง” ทุกคนสามารถใช้ได้ตามกฎหมาย
ขณะที่บางคนมองว่าเป็นดุลยพินิจของหัวหน้าในการตัดสินใจว่าจะชื่นชมหรือให้รางวัลกับพนักงานคนไหนก็ได้ รวมถึงคนที่ทุ่มเทให้กับการทำงานด้วย คนเต็มที่กับการทำงานให้บริษัท ก็สมควรได้รับรางวัลแล้ว
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมประชาสัมพันธ์ระบุว่า ลูกจ้างทุกบริษัทสามารถใช้สิทธิ “การลา” ตามกฎหมายแรงงานของประเทศไทยได้ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
– กรณีลาป่วย : ลูกจ้างสามารถลาป่วยได้เท่าที่เกิดอาการป่วยจริง แต่เมื่อลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ให้นายจ้างรับรู้ถึงสาเหตุ ซึ่งการใช้สิทธิลาป่วย ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างเท่าตามวันทำงานปกติ ทั้งนี้เป็นเงื่อนไขภายใต้การลาป่วยที่ไม่เกิน 30 วันต่อปีเท่านั้น หากเกินวันที่ 31 เป็นต้นไปลูกจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากบริษัท
– กรณีลากิจ : มีข้อมูลระบุว่าลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อทำกิจธุระอันจำเป็นได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 34 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้ลูกจ้างมีใช้สิทธิลากิจได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเทียบเท่าวันทำงานตามปกติ ซึ่งสิทธิการลากิจเป็นสิทธิพื้นฐานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานทุกประเภท แม้จะเป็นช่วงทดลองงาน ลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างประเภทอื่นก็ตาม
– กรณีลาพักร้อน หรือ วันหยุดพักผ่อนประจำปี : ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 30 ประกอบมาตรา 56 กำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 1 ปี มีสิทธิ์หยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน และต้องได้รับค่าจ้างเท่ากับการทำงานปกติ ทั้งนี้บริษัทต่าง ๆ สามารถกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้พนักงานมากกว่า 6 วันทำได้
– กรณีลาคลอด : พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 41 ประกอบมาตรา 59 กำหนดให้ลูกจ้างหญิงที่ตั้งครรภ์สามารถลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 98 วัน โดยสามารถใช้สิทธิเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร หรือใช้ในวันคลอดบุตร รวมถึงระยะพักฟื้นหลังคลอดบุตรได้ด้วย ทั้งนี้ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างจากองค์กรไม่เกิน 45 วันเท่านั้น
– การลาเพื่อรับราชการทหาร : กฎหมายระบุไว้ว่าลูกจ้างมีสิทธิลา เพื่อเข้ารับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึก วิชาทหาร หรือเพื่อทดสอบความพรั่งพร้อมได้ โดยสามารถใช้สิทธิในการลาได้ตามจำนวนวันที่ทางการทหารเรียกตัวไป และมีเงื่อนไขว่าจะได้รับค่าจ้างตามปกติ ในระยะเวลาไม่เกิน 60 วันต่อปี.
ภาพจาก : X
อ้างอิง : กรมประชาสัมพันธ์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไอซ์ รักชนก ซัดทักษิณ เหน็บคนรุ่นใหม่ เข้าตัวนายกฯ อิ๊งค์ ถามนโยบายไหนทำจริงบ้าง
- เกมแล้ว! ยายโป๊ะต่อหน้านักข่าว นักเสพขอ 3 ตัวเล็ก ตร.รวบถึงบ้าน
- ยำยำ เตรียมแจกโบนัส 2-3 เดือน เสริมกำลังใจพนักงาน เปิดรายได้ปี 67 ทะลุ 5 พันล้าน