เตือน โนโรไวรัส ระบาดหนัก แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อไม่ได้ ต้องล้างมือด้วยสบู่เท่านั้น
กรมควบคุมโรค เปิดสถิติผู้ป่วยอุจจาระร่วง จากเชื้อ ‘โนโรไวรัส’ เน้นย้ำวิธีป้องกันโรค แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อไม่ได้ ต้องใช้สบู่ล้างมือเท่านั้น
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ปลอดโรคและภัยสุขภาพ” รายงานถึงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน / อาหารเป็นพิษ จากเชื้อโนโรไวรัส
จากสถิติผู้ป่วยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 – 2567 พบผู้ป่วยตรวจพบเชื้อโนโรไวรัส จี 1 และ จี 2 จำนวน 729 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 0 – 4 ปี คิดเป็นอัตรา 21.6 % รองลงมา คือ อายุระหว่าง 15 – 24 ปี เป็นอัตรา 20.9 % และสุดท้ายเป็นผู้ป่วยระหว่างอายุ 5-9 ปี คิดเป็น 20.5 %
‘โนโรไวรัส’ เป็นไวรัสที่ติดต่อได้ง่าย มีความทนทานต่อความร้อน และ น้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ดี โดยทำให้เกิดโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบเฉียบพลันที่รุนแรงได้ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าวัยอื่น คนส่วนใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคโนโรไวรัสจะหายดีภายใน 1 – 3 วัน แต่ยังคงสามารถแพร่เชื้อไวรัสต่อได้ อีก 2 – 3 วัน
เชื้อโนโรไวรัสมักตรวจพบมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากสภาวะอากาศที่เย็น ทำให้เชื้อสามารถเจริญได้ดี ส่งผลให้อาหารและน้ำดื่มมีโอกาสปนเปื้อน ดังนั้นในช่วงฤดูหนาวจึงมีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสเพิ่มมากขึ้น
ในส่วนของการป้องกันโนโรไวรัส ทางกรมควบคุมโรคแนะนำว่า ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด อย่างน้อย 20 วินาที เป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากแอลกอฮอล์ ไม่สามารถฆ่าเชื้อโนโรไวรัสได้ โดยล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำก่อนและหลังรับประทานอาหาร หรือประกอบอาหาร
รวมถึงรับประทานอาหารปรุงสุก หากเป็นอาหารค้างมื้อ ควรอุ่นอาหารให้ร้อนจัดก่อนรับประทานทุกครั้ง ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมคลอรีน และสำหรับเด็กที่ป่วยด้วยโนโรไวรัสควรหยุดเรียนเพื่อป้องกันกำรแพร่กระจายเชื้อ
เปิดอาการ-การติดต่อ “โนโรไวรัส” และการรักษาโรค
โนโรไวรัสแพร่เชื้อได้โดยการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัส การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนโนโรไวรัส รวมถึงการสัมผัสวัตถุหรือพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนแล้วนำนิ้วที่ไม่ได้ล้างเข้าปาก โดยระยะฟักตัวของเชื้อจะอยู่ที่ประมาณ 12 – 48 ชั่วโมง
อาการของผู้ติดเชื้อโนโรไวรัส แรกเริ่มจะมีอาการท้องเสีย อาเจียน คลื่นไส้ ปวดท้อง หรืออาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามตัว
สำหรับการรักษานั้น ขณะนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่จะเป็นการรักษาตามอาการป่วยที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อทดแทนของเหลวที่สูญเสียไปจากการอาเจียนและท้องเสีย ทั้งยังจะช่วยป้องกันการขาดน้ำได้อีกทางหนึ่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อ.เจษฎ์ เบรก โนโรไวรัส ไม่ใช่โรคใหม่ สื่ออย่าหาปั่นข่าวโอเวอร์ ทำคนแตกตื่น
- หมอยง แจงอย่าตะหนก โนโรไวรัสไม่ระบาดในไทย ป่วยเยอะทุกปีช่วงหน้าหนาว
- เตือนด่วน สถานที่เสี่ยง โนโรไวรัส ระบาดในไทย ป่วยพุ่ง 1,436 ราย