ข่าว

เปิดกฎหมาย เมาแล้วขับ 2568 โทษหนักขึ้น ปรับสูงสุดเท่าไหร่ รู้ไว้ ก่อนสังสรรค์ปีใหม่

อัปเดตกฎหมาย “เมาแล้วขับ” ประจำปี 2568 เพิ่มบทลงโทษหนักขึ้น ปรับเท่าไหร่? จำคุกไหม? รู้ไว้ ก่อนออกไปสังสรรค์ปีใหม่

ปีใหม่ ชีวิตใหม่ แต่กฎหมาย “เมาแล้วขับ” ยังเข้มงวดเหมือนเดิม นโยบายการเมาไม่ขับนั้น เป็นสิ่งที่ภาครัฐฯ รณรงค์มาตลอด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ที่ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่เอง แต่ยังอาจทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน หรือถึงแก่ชีวิตอีกด้วย

Advertisements

อ้างอิงจากแถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ประจำวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ทางศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน หรือ คปถ. ได้ออกมาเปิดเผย พบว่า เมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ (ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 – 1 มกราคม 2567) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งสิ้น 419 ครั้ง รวมมีผู้บาดเจ็บ 422 คน และผู้เสียชีวิต 62 ราย

ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานภาครัฐจึงได้ยกระดับความเข้มงวด โดยการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มโทษ “เมาแล้วขับ” ให้หนักขึ้น เพื่อป้องกันปราบปราม และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ

ปีใหม่นี้เมาไม่ขับ

“เมาแล้วขับ” ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่เกินกฎหมายกำหนด

ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่นับว่าผิดกฎหมาย มีดังนี้

1. ผู้ที่ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

Advertisements
  • กรณีผู้ขับขี่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์
  • ผู้ไม่มีใบขับขี่
  • ผู้อยู่ระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบขับขี่
  • ผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว (ใบอนุญาตแบบ 2 ปี) ถือเป็น “ผู้เมาสุรา”

2. ผู้ที่ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

  • กรณีผู้ขับขี่ที่เป็นบุคคลทั่วไป

วิธีทดสอบระดับแอลกอฮอล์

หากวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจไม่ได้ ให้วัดจากร่างกายแทน โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ขับขี่

1. วัดปริมาณแอลกอฮอล์จาก “ลมหายใจ” ด้วยเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์โดยการเป่า

2. วัดปริมาณแอลกอฮอล์จากร่างกาย สามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่

  • “ตรวจวัดจากปัสสาวะ” เก็บตัวอย่างส่งโรงพยาบาล หรือสถานที่ที่กำหนด เพื่อให้ห้องปฏิบัติการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์
  • “ตรวจวัดจากเลือด” ส่งตัวผู้ขับขี่ไปโรงพยาบาลใกล้ที่สุด เพื่อเก็บตัวอย่างเลือด ด้วยวิธีทางการแพทย์

ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่เกินกฎหมายกำหนด

เปิดบทลงโทษ “เมาแล้วขับ” เข้มงวดมากขึ้น

หลังทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด แล้วพบว่ามีความผิด ผู้ที่เมาแล้วขับและหลักฐานทั้งหมดจะถูกส่งไปยังพนักงานสอบสวนโดยเร็ว และจะต้องไม่เกิน 6 ชั่วโมง เพื่อดำเนินคดี

กรณีปฏิเสธไม่เป่า

  • ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ที่สั่งทดสอบ ปรับครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท
  • ฝ่าฝืนไม่เป่า สันนิษฐานว่าเมาแล้วขับ จำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะต้องกักตัวผู้ขับขี่ที่เชื่อว่า “เมาแล้วขับ” เพื่อทดสอบในระยะเวลาที่จำเป็น และให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

กรณีทำผิดครั้งแรก

  • รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

กรณีทำผิดซ้ำอีก

  • ทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับจากครั้งแรก (อยู่ในช่วงคาดโทษ) เพิ่มโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 5,000 – 100,000 บาท และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

กรณีเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ

  • รับโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี ปรับ 20,000 – 100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ

กรณีเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส

  • รับโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 6 ปี ปรับ 40,000 – 120,000 บาท และถูกระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 2 ปี

กรณีเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

  • รับโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที

ความรับผิดชอบทางประกันภัย

ในส่วนของประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ยังคงคุ้มครองแม้ผู้ขับขี่จะเมาแล้วขับ ขณะที่ประกันภัยภาคสมัครใจ จะไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากการเมาแล้วขับ

ทั้งนี้ กฎหมาย มีไว้เพื่อควบคุมและป้องกันปราบปรามเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ‘จิตสำนึก’ และ ‘ความรับผิดชอบ’ ของผู้ขับขี่ทุกคน หากต้องดื่มก็ควรมีสติ และเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือให้คนอื่นขับรถแทน เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและเพื่อนร่วมทาง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button