หมอเตือนเอง 4 หายนะ ของคนกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ
ไม่ว่าการเดินทางไกล ดูหนังในโรงภาพยนตร์ หรือกิจกรรมที่ไม่สะดวกเข้าห้องน้ำ แต่การกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ ก็ไม่ใช่เรื่องดีที่ควรทำเป็นนิสัย เพราะแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะ ได้ออกมาเตือนถึงอันตรายของการกลั้นปัสสาวะไว้ว่าทำลายร่างกายหลายส่วน
อะไรทำให้เราปวดปัสสาวะ?
เราทุกคนต้องปัสสาวะหลายครั้งต่อวัน ในคนปกติที่ดื่มน้ำในปริมาณ 1.5-2.5 ลิตรต่อวัน มักจะฉี่ประมาณ 4-8 ครั้งต่อวัน แต่เคยสงสัยกันไหมว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
นายแพทย์เจสัน คิม อาจารย์คลินิกด้านระบบทางเดินปัสสาวะจาก Renaissance School of Medicine แห่งมหาวิทยาลัย สโตนี่ บรู๊ค ได้ให้สัมภาษณ์กับ CNN เกี่ยวกับกระบวนการนี้และเหตุผลที่เราไม่ควรมองข้ามสัญญาณจากร่างกาย
คุณหมอคิมอธิบายว่า “การปัสสาวะถูกควบคุมโดยระบบประสาทที่ซับซ้อน ไตจะผลิตปัสสาวะ จากนั้นจะไหลผ่านท่อไตสองท่อไปยังกระเพาะปัสสาวะ โดยทั่วไปกระเพาะปัสสาวะสามารถจุได้ประมาณ 400 ถึง 600 ลูกบาศก์เซนติเมตร” เมื่อกระเพาะปัสสาวะเต็มประมาณครึ่งหนึ่ง ตัวรับประสาทจะส่งสัญญาณไปยังสมองว่าถึงเวลาต้องปัสสาวะแล้ว
ทำไมเราถึงกลั้นปัสสาวะ?
แม้สมองจะได้รับสัญญาณให้ไปปัสสาวะแล้ว แต่สมองก็จะสั่งให้กระเพาะปัสสาวะกลั้นไว้ก่อนจนกว่าจะถึงเวลาที่ “เหมาะสมทางสังคม” นี่ไม่ใช่เพราะสมองต้องการให้เราดูเหมือนคนพิเศษที่ไม่ต้องฉี่ แต่เป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของสัตว์
นายแพทย์เดวิด ชูสเตอร์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะจาก NY Urology ในนิวยอร์กซิตี้ อธิบายว่า “ร่างกายของเราถูกสร้างมาแบบนี้ เพราะถ้าเราปัสสาวะระหว่างเดินอยู่บนถนน สัตว์ผู้ล่าก็จะดมกลิ่นเราได้ ปัสสาวะมีสารพิษเข้มข้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ร่างกายพยายามกำจัดมันออกไป ดังนั้นเราจึงอยากจะเก็บสารพิษเหล่านี้ไว้ก่อน เพราะมันมีกลิ่น และเราต้องการขับสารพิษออกไปในเวลาที่เรารู้สึกปลอดภัยกว่า”
ความเสี่ยงของการกลั้นปัสสาวะ
บางครั้งเราก็จำเป็นต้องกลั้นปัสสาวะ แต่การทำเช่นนี้เป็นประจำอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนี้
1. ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (UTI) เพิ่มขึ้น
เมื่อเราปัสสาวะ เราจะกำจัดแบคทีเรียที่บุกรุกออกไป แต่การกลั้นปัสสาวะอาจ “สร้างแหล่งเพาะพันธุ์แบคทีเรีย” นายแพทย์จามิน บรัมบัทท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะจาก Orlando Health กล่าว หากไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ไต ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือภาวะพิษเหตุติดเชื้อได้
2. กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอ่อนแอ
การกลั้นปัสสาวะอาจดูเหมือนเป็นการบริหารกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันอาจทำให้กล้ามเนื้อตึงและอ่อนแอลง ทำให้ปัสสาวะออกได้ไม่หมดเมื่อถึงเวลา “เมื่อเป็นเช่นนั้น คุณอาจเข้าสู่วัฏจักรที่เลวร้าย ปัสสาวะที่เหลือมากขึ้นหมายถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่มากขึ้น”
3. พลาดสัญญาณเตือน
หากคุณกลั้นปัสสาวะเป็นประจำ สัญญาณจากร่างกายอาจสังเกตได้ยากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว
4. ไตเสียหาย
ในกรณีที่รุนแรง การกลั้นปัสสาวะอาจทำให้ปัสสาวะไหลย้อนกลับไปที่ไต ทำให้เกิดการติดเชื้อหรือความเสียหายต่ออวัยวะ อาจส่งผลให้เกิดภาวะไตบวมน้ำ (hydronephrosis) ซึ่งไตจะบวมและยืด รวมถึงอาการปวดท้อง ปวดเกร็ง หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ทำตามสัญญาณของร่างกายและไปปัสสาวะโดยเร็วที่สุด แม้ว่าคนสุขภาพดีโดยทั่วไปจะสามารถกลั้นปัสสาวะได้สองสามชั่วโมง สองสามครั้งต่อสัปดาห์ โดยไม่เป็นอันตราย
คุณหมอบรัมบัทท์สรุปว่า “ควรไปปัสสาวะเมื่อร่างกายต้องการ ดีกว่ากลั้นไว้ พกทิชชู่เปียกฆ่าเชื้อหรือที่รองนั่งอนามัยแบบพกพาติดตัวไว้ หากจะทำให้คุณสบายใจมากขึ้น กระเพาะปัสสาวะและสุขภาพของคุณในอนาคตจะขอบคุณคุณ”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไล่ครูมะกันออก ไม่ยอมให้เด็กประถมเข้าห้องน้ำ สุดท้ายฉี่แตกหลายคน
- ‘พิมรี่พาย’ เปิดใจกับ ‘วู้ดดี้’ ที่แรก อยากสร้างแรงบันดาลใจ ภูมิใจเป็นแม่ค้า ต้องอั้นฉี่ระหว่างไลฟ์
- หนุ่มดัตซ์ เสพติดบริจาค ‘อสุจิ’ 15 ปี เจาะไข่แดง ทำลูก 550 คนทั่วโลก