รับงานออนไลน์ เสี่ยงโดน Scammer หลอกโอนเงินผ่าน Paypal ด้วยวิธีนี้
เตือนภัยคนรับงานออนไลน์ กลโกงสแกมเมอรร์หลอกจ้างงาน ขอโอนเงินผ่านเพย์พาล สุดท้ายเสียรู้เป็นฝ่ายโอนไปให้โจร
เกิดเหตุการณ์สแกมเมอร์ทำทีมาจ้างงานหลอกลวงผู้รับจ้างออนไลน์ให้โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันเพย์พาลโดยใช้วิธีการที่แยบยลในการหลอกลวงเหยื่อให้โอนเงิน ซึ่งทำให้เหยื่อสูญเสียเงินจำนวนมาก และไม่สามารถทำอะไรได้ทันที เนื่องจากไม่ถนัดในการใช้เพย์พาล
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2567 นัดวาดภาพประกอบผู้ใช้ X รายหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์เตือนภัย หลังจากพบประสบการณ์การหลอกลวงจากชาวต่างชาติที่ทักมาจ้างให้เธอวาดภาพ โดยตกลงราคากันเรียบร้อยแล้ว อีกฝ่ายขอโอนเงินผ่านเพย์พาลเพื่อจ่ายเงินค่าจ้าง แต่เธอปฏิเสธโดยทันทีและบอกว่าจะขอรับเงินก้อนแรกเมื่อเสร็จแบบร่าง
จากนั้น คนจ้างพยายามยืนยันการจ่ายเงินทันที โดยส่งสลิปโอนเงินผ่านทางเพย์พาล แต่เจ้าของโพสต์ไม่พบยอดเงินใด ๆ เนื่องจากไม่เคยใช้งานเพย์พาล มาก่อน จึงสอบถามไปยังคนจ้างถึงความผิดปกติและขอไฟล์ใบเสร็จจริง ๆ
ในขณะที่สื่อสารกัน คนจ้างบอกให้เธอลองตรวจสอบอีเมลเพิ่มเติม โดยชี้ให้ไปดูในโฟลเดอร์สแปม พบว่ามีอีเมลจาก Paypal ซึ่งระบุว่าเงินที่โอนนั้นถูกตรึงไว้ เนื่องจากการตั้งค่าบัญชีของเธอเป็นบัญชีแบบส่วนตัว (Personal) ไม่ใช่แบบธุรกิจ (Business) ตามที่เพย์พาลกำหนด จึงต้องยืนยันบัญชีให้เป็นธุรกิจก่อนเพื่อรับเงิน
หลังจากนั้น คนจ้างจึงบอกให้เธอโอนเงินอีกก้อนหนึ่งเพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือ และเธอก็ทำตามขั้นตอน จนได้รับอีเมลแจ้งว่าบัญชีเพย์พาลของเธอได้เปลี่ยนเป็นแบบธุรกิจ และขอให้ทำการคืนเงินก้อนที่สองทันที หากไม่ทำตามคำแนะนำ เงินทั้งหมดจะถูกยึด และเธอจะถูกถือว่าเป็นผู้ผิด
ในที่สุด เจ้าของโพสต์ตัดสินใจโอนเงินคืนตามคำขอ แต่ผ่านไปหลายชั่วโมง เงินทั้งสองก้อนก็ยังไม่เข้าบัญชีของเธอ อีกฝ่ายก็เร่งเร้าให้เธอรีบทำการโอนเงิน ทั้ง ๆ ที่เจ้าของโพสต์รู้สึกเริ่มสงสัยว่ากำลังถูกหลอก
หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ เจ้าของโพสต์ได้ย้อนกลับไปดูพฤติกรรมทั้งหมดและพบว่าเข้าข่ายลักษณะการหลอกลวงของสแกมเมอร์ ซึ่งมีลักษณะดังนี้ เช่น การส่งบรีฟงานที่ทำขึ้นแบบคัดลอกและวาง (copy-paste) การจบดีลอย่างรวดเร็วและต้องการให้โอนเงินทันที รวมถึงอีเมลเพย์พาลปลอม
ในที่สุด เจ้าของโพสต์ได้แชร์ประสบการณ์และเตือนผู้ที่อยากเริ่มรับงานออนไลน์ รับเงินผ่านเพย์พาลว่าให้ใช้วิธีทำ Invoice หรือใบแจ้งหนี้ และระมัดระวังในการให้ข้อมูลส่วนตัว รวมถึงอย่าเผลอให้ที่อยู่อีเมลโดยตรงกับผู้ว่าจ้าง เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของสแกมเมอร์ในอนาคต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมอเพจดังเฉลย การนวดทำให้ตายได้ไหม โรคไหนห้ามนวดเด็ดขาด
- 7 ที่เที่ยว วันรัฐธรรมนูญ ได้ความรู้ ถ่ายรูปสวย ย่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
- อาลัย เน็ตไอดอลสาว โรคมะเร็งหายากคร่าชีวิต วัยเพียง 25 พบได้แค่หนึ่งในแสน
อ้างอิง: X