โรม ชี้ทหารต้องอยู่ใต้พลเรือน สะท้อนบทเรียนกฎอัยการศึกเกาหลีใต้
รังสิมันต์ โรม แสดงความเห็นปมเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึก ชี้ทหารต้องอยู่ใต้พลเรือน หวังระบบกฎหมายไทยเข้มแข็งเหมือนเกาหลีใต้
นาย รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ ว่า ตนคงไม่ลงรายละเอียดสถานการณ์ทั้งหมด ต้องรอให้ข้อมูลสะเด็ดน้ำกว่านี้ แต่ในขณะที่มีการประกาศกฎอัยการศึก เชื่อว่าทุกคนแปลกใจว่า สถานการณ์ร้ายแรงถึงขนาดต้องประกาศกฎอัยการศึกหรือไม่ แต่เราก็รับรู้ภายหลังว่า สถานการณ์การเมืองเกาหลีใต้อาจมีความขัดแย้งกันพอสมควร และการใช้อำนาจนี้อาจเป็นที่ถกเถียงกันว่า อาจจะชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ซึ่งก็เป็นเรื่องภายในของเขา
แต่ในความกังวลของคนภายนอกแบบพวกเรา รวมถึงนักสังเกตการณ์ต่างๆ ทุกคนกังวลไปในทิศทางเดียวกันว่า สุดท้ายเราจะเห็นการรัฐประหาร ยึดอำนาจตัวเองของเกาหลีใต้หรือไม่ ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาจทำให้เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ อาจจะทำให้สถานการณ์ของโลกเลวร้ายลงไปอีก
ทั้งนี้ ในฐานะที่ตนเป็นนักการเมืองอยู่ในระบบของสภาประเทศไทย มีเจตจำนงในการสนับสนุนประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ซึ่งกรณีนี้ของเกาหลีใต้ ตนสนับสนุนอยากให้มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง เพื่อจะได้เป็นหลักเป็นฐานให้กับประเทศอื่นต่อไป
ย้ำว่าการพูดเรื่องนี้ไม่ใช่การแทรกแซงกิจการภายในของประเทศใด แต่เชื่อว่าหากกระบวนการประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง จะส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งเช่นเดียวกัน
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เมื่อสภาเกาหลีใต้ มีการโหวตคว่ำกฎอัยการศึก สุดท้ายประธานาธิบดีต้องประกาศยุติการใช้กฎอัยการศึก ก็เป็นทิศทางที่ดี ขณะเดียวกันก็มาย้อนมองตัวเราว่า อยากเห็นบรรยากาศแบบนี้ ตอนที่มีการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ก็เริ่มต้นจากการใช้กฎอัยการศึก ดังนั้น หวังว่าประเทศไทยจะมีการจัดการและดำเนินการในการสร้างความเข้มแข็งทางประชาธิปไตย
ไม่ว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญที่ทำให้รัฐธรรมนูญมีความเข้มแข็ง และสะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชน รวมถึงมีวิธีตอบโต้ เมื่อมีความพยายามในการใช้อำนาจบางอย่างที่จะนำไปสู่การรัฐประหาร
รวมถึงการปรับปรุงกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึกที่เป็นกฎหมายโบราณ ให้อำนาจฝ่ายทหารระดับสูง ซึ่งจำเป็นต้องมีการทบทวนปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีการใช้มาตั้งแต่ปี 2548 เป็นการใช้อำนาจพิเศษแบบไม่ต้องผ่านสภา
โดยตนได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ค้างอยู่ในสภา ซึ่งร่างกฎหมายนี้เราพยายามทำให้สภามีอำนาจในการพิจารณาเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น จะมีขั้นตอนต่างๆ มากมาย เราจึงให้อำนาจฝ่ายบริหารในการประกาศได้ 7 วัน แต่ถ้าจะมากกว่า 7 วันต้องขอสภา พร้อมบอกแผน วิธีการต่อสภา
ซึ่งวิธีการแบบนี้ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใช้กัน โดยสภาต้องมีอำนาจในการพิจารณา ถ้าสภาไม่อนุมัติก็ตกไป ซึ่งกระบวนการแบบนี้เป็นกระบวนการปกติที่เราจะเห็นได้ว่า อำนาจพิเศษไม่ได้อยู่กับฝ่ายบริหารโดยแท้ 100% แต่ต้องมีขั้นตอนทางกฎหมายที่ต้องขอความยินยอมหรือทำให้สภาสามารถตรวจสอบหรือดำเนินการบางอย่างได้
“เกาหลีใต้ได้ทำให้ทั่วโลกเห็นแล้วว่า สภาสามารถยุติการใช้อำนาจของประธานาธิบดีได้ แต่อาจจะไม่ทั้งหมด เพราะสุดท้ายเมื่อสภาคว่ำ ประธานาธิบดีก็ต้องรับลูกและประกาศต่อไป เราก็จะเห็นบทบาทของสภามีความเข้มแข็งอย่างมาก เรื่องนี้เป็นโอกาสดีที่จะนำมาทบทวนกลไกภายในของไทย และต้องยอมรับว่า ไทยมีการรัฐประหารบ่อยครั้ง ก็ไม่รู้ว่าครั้งต่อไปจะมีหรือไม่ ซึ่งผมก็หวังว่าจะไม่มี ดังนั้น ควรใช้โอกาสนี้ทบทวนตัวเอง” นายรังสิมันต์ กล่าว
เมื่อถามกรณีมีนักวิเคราะห์การเมืองบางคน หยิบยกสถานการณ์ของเกาหลีใต้มาเทียบกับประเทศไทย บริบทต่างกันหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนไม่อยากไปเทียบตรงๆ เพราะตนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องของเกาหลีใต้ แต่ตนมีความหวั่นใจว่า การใช้กฎอัยการศึกของเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นก็ดูคลับคล้ายกับประเทศไทยที่เกิดขึ้นเมื่อ 22 พ.ค. 2557 ที่มีการประกาศกฎอัยการศึกก่อน แต่จะเห็นความแตกต่าง ซึ่งมีข้อมูลแต่ไม่ทราบว่าจริงเท็จแค่ไหน
แต่ดูเหมือนทางทหารของเกาหลีใต้ มีความยั้งๆ อยู่ ภาคประชาชนของเกาหลีใต้ก็มีความกระตือรือร้นในการออกมาปกป้องประชาธิปไตยในระดับที่สูงมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้เดินหน้า
ต้องยอมรับว่าการรัฐประหารปี 2557 ของไทย ความเข้มแข็งของฝ่ายการเมือง การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ดูเหมือนจะพร้อมใจปฏิบัติและเชื่อฟังในสิ่งที่คณะรัฐประหารกำหนด ถ้าเป็นแบบนี้ โอกาสที่เราจะเห็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น คงเป็นบทเรียนสำคัญที่เราเรียนจากเพื่อนบ้าน และเรียนจากตัวเราเองเมื่อ 22 พ.ค. 2557
“การรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยอมรับ และก่อวิกฤตปัญหาจำนวนมาก ซึ่งเราจะเห็นว่า สภาต้องเสนอร่างกฎหมายในการยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้เวลาและงบประมาณเยอะมาก
ฉะนั้น ต้องระลึกได้แล้วว่า ปัญหาการรัฐประหารแบบนี้ การที่ฝ่ายกองทัพจะมาอยู่เหนืออำนาจประชาชนควรจะพอได้แล้ว และหลักการสำคัญของทั่วโลก ถ้าไปประเทศที่เจริญแล้ว คือ กองทัพต้องอยู่ใต้พลเรือน ซึ่งก็หวังว่าเราจะใช้โอกาสนี้ทำให้ประเทศไทยมีระบบกฎหมายที่เข้มแข็ง และทำให้กองทัพอยู่ใต้พลเรือนอย่างแท้จริง” นายรังสิมันต์ กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไอติม ชื่นชม ปชช.เกาหลีใต้ สู้กลับกฎอัยการศึก เป็นบทเรียนสำคัญกับไทย
- นายกอิ๊งค์ ห่วงคนไทยในเกาหลีใต้ หวังให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว
- วิเคราะห์สาเหตุ ทำไมเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึก ช็อกโลกกลางดึก