ข่าว

ย้อนรอย “บุญทรง” คดีจำนำข้าว จีทูจี ต้นเหตุขังคุก 48 ปี ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษ

ย้อนรอย คดีจำนำข้าว จีทูจี ประวัติ ต้นเหตุขังคุก “บุญทรง” 48 ปี ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษ ยิ่งลักษณ์ ศาลพิพากษา คุก 5 ปี แต่ศาลปกครองถอนคำนสั่งชดใช้เงิน 3.5 หมื่นล้าน

เมื่อปี พ.ศ. 2554 รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปิดตัวโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่มุ่งยกระดับรายได้ของเกษตรกรไทย โดยรัฐบาลจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีนาย บุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

Advertisements

วิธีการคือ เกษตรกรจะนำข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวได้มาจำนำกับรัฐบาล ณ จุดรับจำนำที่กำหนดไว้ เจ้าหน้าที่รัฐจะประเมินคุณภาพข้าวเปลือก เช่น ความชื้น ปริมาณสิ่งเจือปน เพื่อกำหนดราคาจำนำ เมื่อตกลงราคาจำนำได้แล้ว รัฐบาลจะจ่ายเงินให้เกษตรกรตามปริมาณและคุณภาพของข้าวเปลือกที่นำมาจำนำ ข้าวเปลือกที่รับจำนำจะถูกเก็บไว้ในคลังสินค้าของรัฐบาลเพื่อรอการระบายออกสู่ตลาดในภายหลัง

ปรากฎว่า ถึงพฤษภาคม ปี 2557 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง นำไปสู่การรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช ซึ่งหนึ่งในข้อหาที่นำมาใช้เล่นงานอดีตนายกรัฐมนตรีและพวก คือ โครงการจำนำข้าว

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวหาว่าโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการทุจริตเกิดขึ้นในหลายขั้นตอน สรุปประเด็นหลักๆ คือ 1. การทุจริตในขั้นตอนการรับจำนำ เช่น มีการใช้ชื่อของเกษตรกรที่ไม่ได้ปลูกข้าวจริง หรือใช้เอกสารปลอมเพื่อสวมสิทธิ์นำข้าวมาจำนำ หรือ มีการนำข้าวคุณภาพต่ำมาปะปนกับข้าวคุณภาพดี เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบคุณภาพ

2. การทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว เช่น การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) มีการกล่าวหาว่าการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ มีการทุจริตเกิดขึ้น โดยมีการขายข้าวในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง และมีการรับสินบนจากผู้ซื้อ

คสช. อ้างว่าการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐบาลสูญเสียเงินจำนวนมหาศาล และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ มีผู้เห็นด้วยกับข้อกล่าวหาของ คสช. และมีผู้ที่มองว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง

Advertisements

เมื่อเรื่องเป็นคดีถึงศาล ทำให้โครงการชะงัก และข้าวที่ชาวนานำมาจำนำต้องค้างอยู่ในโกดังเป็นข้าว เป็นปัญหาการระบายมาจนถึงปัจจุบัน

นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดนฟ้องข้อหา คดีปล่อยปละละเลย ให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2560 ศาลพากษาจำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยใจความสำคัญที่ศาลวินิจฉัยคือ นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ควบคุม-ตรวจสอบ กำกับ-ดูแล ระงับ-ยับยั้ง หรือแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการทุจริตในการระบายข้าว

แต่จำเลยกลับมีพฤติการณ์ในการละเว้นหน้าที่ ส่อแสดง-เจตนาออกโดยแจ้งชัด อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวก แสวงผลประโยชน์ แอบอ้าง ทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหาย ดังนั้น การกระทำของจำเลย จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งโดยทุจริต และ กระทรวงการคลังมีคำสั่งที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 59 ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท

แต่ต่อมา ปี 2564 ศาลปกครองกลางมีสั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว เป็นเงิน 35,717.2 ล้านบาท และเพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินเพื่อดำเนินการขายทอดตลาด

ศาลมองว่ายิ่งลักษณ์ ไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการบริหารจัดการในระดับปฏิบัติ เช่น การทำสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการหรือรับรู้การทุจริตในระดับปฏิบัติ ที่เกิดขึ้นจากผู้ดำเนินงาน

เมื่อเกิดปัญหา ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ได้ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ใช้มาตรการทางกฎหมายทั้งอาญาและปกครองเพื่อลงโทษผู้ทุจริต ดังนั้น ศาลเห็นว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในฐานะนายกรัฐมนตรีแล้ว

นอกจากนี้ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ายิ่งลักษณ์มีส่วนร่วมในการสั่งการที่ทำให้เกิดความเสียหาย การกำหนดให้เธอต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายไม่เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ

ส่วนคดีของนายบุญทรง กับคดีทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี เป็นหนึ่งใน 15 จำเลยที่ถูกฟ้อง วันที่ 25 ส.ค.2560 ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 42 ปี อ้างว่ามีส่วนรู้เห็นในการทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วฯ ซึ่งมีอัตราโทษรุนแรง

ต่อมานายบุญทรงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามกฎหมายใหม่ เพื่อขอลดโทษ แต่อัยการโจทย์ได้กลับขออุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยเพื่อต่อสู้ด้วย ปรากฏว่าศาลได้พิพากษาแก้โทษจำคุกนายบุญทรง เพิ่มอีกกระทงหนึ่งเป็นเวลา 6 ปี จากโทษเดิม 42 ปี เป็น 48 ปี

7 ธ.ค.2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 9 นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อายุ 61 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม เหลือวันต้องโทษ 10 ปี จะพ้นโทษ 21 เม.ย.2571

ล่าสุด 2 ธันวาคม 2567 ผ่านมาสามปี กรมราชทัณฑ์ได้พักโทษนายบุญทรง โดยติดกำไลอีเอ็ม ได้ออกจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังจากนั้นจะย้ายไปคุมประพฤติที่จังหวัดเชียงใหม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button