Land of smile หรือ “สยามเมืองยิ้ม” ดูจะเป็นนิยามของเมืองไทยที่คนในชาติและต่างชาติคุ้นหูมากที่สุด นอกจากธรรมชาติอันสวยงาม ใคร ๆ ไม่ว่าชนประเทศไหนมาท่องเที่ยวต่างประทับใจในรอยยิ้มและความเป็นกันเอง ง่าย ๆ สบาย ๆของคนไทย จนสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์ดึงดูดให้คนจากทั่วทุกมุมโลกจองตั๋วมาไทย
ภาพ : flickr
อย่างไรก็ดี ภาพลักษณ์ดังกล่าวดูเหมือนจะเพิ่งแพร่หลายไม่นานมานี้เอง เมื่อลองมองย้อนกลับไปให้ไกลอีกหน่อย เราจะพบหลักฐานหลายชิ้นที่พูดถึงลักษณะนิสัยของคนไทยในสายตาชาวต่างชาติ ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่ได้เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยว แต่เป็นพ่อค้าเดินเรือเข้ามาค้าขาย หรือไม่ก็มาเผยแผ่ศาสนา รวมถึงด้านการทูต ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องคลุกคลัตีโมงกับคนไทยจนรู้นิสัย
ภาพ : amaztravelThailand
เมื่อ 400 ปีที่แล้วมีชาวฮอลันดาเข้ามาตั้งห้างค้าขาย กล่าวในทำนองเดียวกับ ชาวอังกฤษที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 2 รวมถึงชาวเยอรมัน ฝรั่งเศส ในรัชกาลที่ 4 และ 5 ที่ว่า “คนไทย ขี้เกียจ ขี้ขลาด ขี้โกง”
ตัวอย่างคำวิจารณ์ถึงนิสัยคนไทยตอนหนึ่ง ของ หมอกิศลับ มิชชันนารี ชาวเยอรมัน กล่าวว่า
“ ชาวสยามเป็นพวกโลเลมาก วันนี้มีความคิดอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้เปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่งมิตรภาพของพวกเขาจึงเอาแน่นอนไม่ค่อยได้ …โดยส่วนใหญ่แล้ว ชาวสยามเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในด้านความซื่อสัตย์สุจริต แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ข้าพเจ้ากลับไม่ได้เห็นชาวสยามที่มีชื่อเสียงเช่นนี้เลยสักคน”
ภาพ : คมชัดลึก
ขณะรายงานเกี่ยวกับเมืองไทย 183 ข้อ ของนายครอเฟิด ทูตอังกฤษซึ่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เช่น
ข้อ 84 ถ้าพิจารณาในแง่ที่ว่า ชาวสยามมีนิสัยขี้ขลาดตาขาว อันเป็นผลจากการบีบคั้นทางด้านสถาบันการเมืองเราก็อาจลงความเห็นว่า ชาวสยามไม่น่าจะทำศึกมีชัยชนะ และสามารถรักษาความเหนือกว่าพวกชาติเล็กๆ ที่กล้าหาญชาญชัยที่อยู่โดยรอบกรุงสยาม สิ่งที่น่าจะเป็นได้ตามความคิดเห็นของข้าพเจ้า ก็คือเรื่องทั้งหลายคงเกิดจากความเหนือกว่าในแง่ความเจริญ ซึ่งก็คงขึ้นอยู่กับความเหนือกว่าในแง่ทรัพยากร ความมั่งคั่งร่ำรวยที่เหนือกว่า และจำนวนประชากรที่มีมากกว่า มีความรู้สึกเคารพผู้มีอำนาจดีกว่า และความสามารถที่จะปรองดองกันกิจการบางอย่าง ที่ต้องการความคิดอ่านร่วมกัน ที่ดีกว่าชาติอื่น
ภาพ : pinterest
แต่ที่กล่าวมาข้างต้นนั่นก็เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น นิสัยคนไทยเป็นอย่างไรต้องดูกันนานๆ และรอบด้าน แต่อย่างหนึ่งที่พอบอกได้คือ “คนไทยวันนี้ย่อมไม่เหมือนคนไทยในอดีต” เมื่อเราเรียนรู้บทเรียนในอดีต อยู่ที่เราแล้วว่าจะย่ำอยู่ที่เดิมหรือเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น
รายละเอียดเพิ่มเติม : นิตยสารศิลปวัฒนธรรม