อันตราย ภัยเงียบของเส้นเลือดในสมองตีบ เช็กอาการ อันตราย วิธีป้องกัน
รู้จักโรคเส้นเลือดในสมองตีบคืออะไร เช็กอาการแรกเริ่ม ป้องกันการเกิดอันตราย ภาวะสมองขาดออกซิเจนและสารอาหาร เสี่ยงเสียชีวิตหรือพิการได้ หากรักษาตามขั้นตอนมีโอกาสรอดแค่ไหน?
โรคเส้นเลือดสมองตีบ หรือ Ischemic Stroke คือภาวะที่สมองขาดเลือดและออกซิเจนจากการอุดตันของหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมอง เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่อาจคร่าชีวิตได้ในพริบตา หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา อาจทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตในบทความนี้ เราจะพาคุณทำความเข้าใจกับ โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตั้งแต่นิยาม สาเหตุ อันตรายที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการรักษา และการป้องกัน เพื่อให้คุณและคนใกล้ชิดเตรียมพร้อมรับมือกับภัยเงียบที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
โรคเส้นเลือดสมองตีบคืออะไร?
โรคเส้นเลือดสมองตีบ หรือ Ischemic Stroke เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดและออกซิเจน เนื่องจากหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองตีบแคบหรืออุดตัน โดยสาเหตุสำคัญมาจากไขมันสะสมบริเวณผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและมีพื้นที่ภายในลดลง ผลที่ตามมาคือเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้อย่างเพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบบประสาทและการทำงานของร่างกาย
อาการเริ่มแรกของเส้นเลือดสมองตีบ
อาการของโรคเส้นเลือดสมองตีบเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรง หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที
- แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก
- ใบหน้าบิดเบี้ยว มุมปากตก
- พูดลำบาก พูดไม่ชัด หรือพูดไม่ได้
- การมองเห็นผิดปกติ เช่น เห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็นในบางส่วน
- เวียนศีรษะ ทรงตัวลำบาก เดินเซ
- ปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย
อันตรายของโรคนี้ โอกาสรอดและการรักษา
จากสถิต่พบว่า ในแต่ละวันมีผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 500-1,000 คนในประเทศไทย โดยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 5-10% และบางรายที่รอดชีวิตอาจต้องเผชิญกับภาวะอัมพฤกษ์หรืออัมพาตอย่างถาวร
อย่างไรก็ตาม โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับเวลา หากได้รับการรักษาภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง (270 นาที) หลังเกิดอาการเฉียบพลัน จะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้มาก การใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการรักษาด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ เช่น หน่วยรักษาโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (Mobile CT & Stroke Treatment Unit) สามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงต่อการพิการได้
ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุสำคัญ
โรคเส้นเลือดสมองตีบมีปัจจัยเสี่ยงหลากหลาย ได้แก่
- โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย หรือบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง
- กรรมพันธุ์และอายุ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้หรือผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงกว่า
- ภาวะไขมันในเลือดสูง ไขมันสะสมในผนังหลอดเลือดทำให้เกิดการตีบและขาดความยืดหยุ่น
แนวทางการป้องกัน
การปรับพฤติกรรมและดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมช่วยลดความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดสมองตีบได้
- ควบคุมน้ำหนักและความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว
- งดสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์
- ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจสอบความเสี่ยง
โรคเส้นเลือดสมองตีบเป็นภัยเงียบที่สามารถคุกคามชีวิตได้ในพริบตา แต่หากเรารู้เท่าทันและปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันที่เหมาะสม รวมถึงสังเกตอาการผิดปกติในร่างกายของตนเองและคนใกล้ตัว โอกาสรอดชีวิตและการกลับมามีสุขภาพแข็งแรงก็เป็นไปได้สูง อย่ารอช้าในการดูแลสุขภาพ เพราะทุกนาทีมีค่าเมื่อเป็นเรื่องของชีวิต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สัญญาณเตือน โรคซึมเศร้าระยะแรก สังเกตอาการ รักษาสุขภาพจิต
- กินกล้วยกับกาแฟตอนเช้าได้ไหม? เตือนเมนูควรเลี่ยง ให้น้ำตาลสูงปรี๊ด เสี่ยงโรคเพียบ
- โรคไอกรนคืออะไร? หมอยง แนะวิธีรับมือ ย้ำอย่าตื่นตระหนก เช็กอาการ-กลุ่มเสี่ยง
อ้างอิง: โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลศิครินทร์