เดือด อินฟลูเขมรอ้างวิกิพีเดีย เคลมเกาะกูดของกัมพูชา ร้อนชาวเน็ตไทยงัด ChatGPT สู้
อินฟลูเอนเซอร์เขมร อ้างหลักฐานเกาะกูด เป็นของกัมพูชา วีรบุรุษขุนพลโซเชียลไทย รีบระดมกำลังแตะเบรคหลังเห็นที่มาข้อมูลอ้างอิงแหล่งนี้ ร้อนเบิกพยาน ChatGPT ขึ้นโต้เดือด ลามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส กว่า 100 ปี
อีกหนึ่งกรณีตอกย้ำให้เห็นถึงรากฐานของการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการเรียนรู้แหล่งที่มาของข้อมูลในโลกยุคดิจิตอลนั้นสำคัญเพียงไร หลังเกิดกรณี Phalla Phorn ดิจิตอลครีเอเตอร์ชาวกัมพูชา โพสต์เนื้อหาผ่านเฟซบุ๊กอ้างว่าหลังจากตัวเองไปลองเช็กข้อมูลบางส่วน พบว่าแท้จริงแล้ว เกาะกูด จ.ตราด ไม่ใช่ของประเทศไทย
คอนเทนต์ครีเอเตอร์เพื่อนบ้านรายนี้ยังลงโพสต์สื่อสารประเด็น “เคลมเกาะกูด” นี้ต่อเนื่อง โดยโพสต์ต่อมามีการอ้างข้อความหลังจากดูข้อมูลอ้างอิงแล้ว เกาะกูดคือเกาะเขมรของเรา แม้แต่เว็บไซต์ใหญ่และมีชื่อเสียงที่ได้นำมาลงอันนี้ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเช่นกัน
“เกาะกูดก็เป็นเกาะเขมรของเรา ขอให้ชาวเขมรรู้จักเกาะแห่งนี้ พี่น้องชาวเขมรทุกคน”
พอเห็นหลักฐานอ้างอิงของอินฟลูฯ เพื่อนบ้านที่ยกหลักฐานมาจากเว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ซึ่งเจ้าตัวบอกในโพสต์อีกว่าเป็นเว็บไซต์ใหญ่และมีชื่อนั้น แท้จริงแล้วหากคนทั่วไปที่รู้กลไกการทำงานดีจะทราบว่า ใคร ๆ ก็สามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลในสารานุกรมนี้ได้สบาย ๆ
พอความเข้าใจเดินทางมาถึงตรงนี้ บนช่องความเห็นเจ้าของโพสต์จึงปรากฎมิตรรักแฟนคลับเลือดสยามเข้าไปตอบโต้ทั้งปะทะคารมณ์ ตลอดจนเสียดสีในความหลงผิดด้านข้อมูลพอหอมปากหอมคอ
“พี่ฟังก่อนพี่ ถ้าเอาข้อมูลมาจากเว็บไซต์วิกิพีเดียเนี่ย มันสามารถแก้ไขได้นะคะ หากว่ายังไม่รู้”
“มาสิ มาสิ อยากลองดู ว่าเก่งจริงเหมือนพิมไหม”
อย่างไรก็ดีในบรรดาเกรียนคีย์บอร์ดไทยที่ไประดมจอดรถทัวร์จำนวนมาก ก็ยังพอมีบุคคลปรารถนาดียกข้อมูลโดยอาศัยความเป็นกลางมากที่สุดอย่าง ChatGPT มาอธิบายโดยยกข้อมูลอ้างอิงทั้ง สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907, สถานะทางกฎหมาย, การยืนยันจากนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ ไปจน เส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลในอ่าวไทย
เกาะกูดเป็นของประเทศไทยอย่างชัดเจน โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศยืนยันสถานะของเกาะดังนี้:
- สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 สนธิสัญญานี้ระบุว่า ฝรั่งเศสยอมคืนดินแดนเมืองตราดและเกาะบริเวณใต้แหลมสิงห์ ซึ่งรวมถึงเกาะกูด ให้แก่ประเทศไทย หลังจากการแลกเปลี่ยนดินแดนบางส่วนในกัมพูชา (เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ)
- เส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลในอ่าวไทย แม้จะมีการประกาศเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาในปี 1972 แต่พื้นที่รอบเกาะกูดยังคงถือเป็นอาณาเขตของไทยตามแนวปักปันเขตแดนที่สอดคล้องกับหลักสากล
- การปกครองโดยไทย เกาะกูดอยู่ในจังหวัดตราดและมีการบริหารจัดการในรูปแบบอำเภอของไทยมานานกว่าร้อยปี ไม่มีหลักฐานว่ากัมพูชาเคยปกครองพื้นที่นี้ในยุคสมัยใด
- สถานะทางกฎหมาย การเจรจาหรือข้อพิพาทใด ๆ ระหว่างไทยและกัมพูชา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสถานะของเกาะกูด เพราะตัวเกาะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทับซ้อน
- การยืนยันจากนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์และกฎหมายเกี่ยวกับสถานะของเกาะกูดถูกศึกษาและยืนยันโดยนักวิชาการในประเทศไทยมาโดยตลอด
- การใช้สนธิสัญญาปักปันเขตแดน สนธิสัญญาปักปันเขตแดนในสมัยรัชกาลที่ 5 และหมุดหลักฐานเขตแดนชัดเจน ยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาตั้งแต่ต้น ดังนั้น เกาะกูดถือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยโดยไม่มีข้อสงสัยในแง่กฎหมายและประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ประเด็นข้อพิพาททางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชาบางส่วนยังมีอยู่ในบริเวณใกล้เคียง แต่ไม่ได้ส่งผลต่อสถานะของตัวเกาะกูดโดยตรง
อ่านข่าวเพิ่มเติม