ดีอีลุย พัฒนาแพล็ตฟอร์มใหม่ ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คาดใช้ต้นปี 68
ดีอีร่วมพัฒนา ‘แพลตฟอร์มกันลวง’ จบปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เชื่อมโยงฐานข้อมูลหลายหน่วยงาน พร้อมใช้ต้นปี 2568 คาดขยายสู่โซเชียลมีเดียในอนาคต
กระทรวงดีอี ร่วมกับกสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม เดินหน้าแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติพัฒนา ‘แพลตฟอร์มกันลวง’ (DE-fence platform) ช่วยคัดกรองสายเรียกเข้า และข้อความสั้น รวมถึงยืนยันเบอร์จากหน่วยงานสำคัญ คาดว่าจะพร้อมใช้งาน ต้นปี 2568
จากสถิติของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ ตร. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 – 30 ก.ย. 2567 พบการรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 3.3 แสนคดี หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แพล็ตฟอร์มกันลวงจะป้องกันแก๊งคอลเซนเตอร์ โดยให้ผู้ให้บริการส่ง SMS ลงทะเบียนใหม่ทั้งระบบ ภายในปี 2567 เล็งเห็นว่าต้องลงทะเบียนทุกปี เพื่อยืนยันตัวตนผู้ SMS รวมทั้งผู้ให้บริการเครือข่ายจะตรวจสอบข้อความก่อนส่งไปยังผู้ใช้บริการ
รู้จัก ‘แพลตฟอร์มกันลวง’ (DE-fence platform) ต้านภัยมิจฉาชีพ
สำหรับ DE-fence platform เป็นแพล็ตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการคมนาคม, ฐานข้อมูลของ ตร., สำนักงาน ปปง., ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) และกระทรวงดีอี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำและเป็นปัจจุบันมากที่สุด เพื่อใช้เตือนประชาชนว่าผู้ส่งข้อความหรือผู้ที่โทรศัพท์เข้ามานั้นเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ความเสี่ยงของเบอร์โทรอยู่ระดับใด รวมทั้งเช็กความปลอดภัยก่อนรับสายหรืออ่านข้อความ SMS
อีกทั้งยังมีระบบแจ้งความออนไลน์ และแจ้งอายัดบัญชีคนร้ายผ่าน AOC พร้อมระบบการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งานเพื่อส่งข้อมูลให้กับตำรวจ
สกัดสายมิจฉาชีพผ่าน 3 กลยุทธ์
แพลตฟอร์มกันลวงใช้หลักการในการแบ่งสายโทรเข้า รวมถึง SMS ที่ได้รับ ออกเป็น 3 กลุ่มสี ได้แก่
1. Blacklist หรือ สีดำ เป็นการตรวจจับหมายเลขการติดต่อจากคนร้ายที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และแนะนำให้ผู้ใช้บริการเลือก Block หรือปิดกั้นแบบอัตโนมัติ
2. Greylist หรือ สีเทา เป็นการติดต่อจากหมายเลขที่ต้องสงสัย อาจติดต่อจากต่างประเทศ หรือติดต่อจากอินเทอร์เน็ต โดยระบบจะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้บริการได้ทราบ
3. Whitelist หรือ สีขาว เป็นหมายเลขที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นหมายเลขของหน่วยงานรัฐ หรือหมายเลขหน่วยงานที่ลงทะเบียนถูกต้อง รวมถึงเป็นหมายเลขที่ผู้ใช้บริการ platform ยืนยันว่าเป็นหมายเลขที่ต้องการรับสาย หรือ ยินยอมรับข้อความ
แผนการดำเนินการ ‘แพลตฟอร์มกันลวง’
ในระยะแรกแพลตฟอร์มกันลวงจะเน้นที่การตรวจสอบเบอร์โทรและ SMS โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือของหน่วยงานรัฐ ที่มิจฉาชีพมักจะแอบอ้าง
ส่วนในระยะต่อไปจะขยายการป้องกันและแจ้งเตือนสำหรับการติดต่อทางโซเชียลมีเดีย เพราะรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาและกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้หมดสิ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง