วอชด็อก จ่อเอาผิด แม่หยัว ปมวางยาสลบแมว สัตวแพทยสภารับเรื่องต่อ
จี้ตามหาข้อเท็จจริง วอชด็อก โพสต์เตรียมเอาผิด ผู้รับผิดชอบกองถ่าย “แม่หยัว” ปมฉากวางยาสลบแมว ฝั่งสัตวแพทยสภารับเรื่อง แจงกำลังเตรียมดำเนินการ
จากกรณีดราม่าละคร “แม่หยัว” ที่ออกอากาศฉากแมวถูกวางยาสลบจนมีอาการตัวกระตุก-อ้วก จนเกิดกระแสวิจารณ์จากกลุ่มคนรักสัตว์ว่าเป็นการทรมาณสัตว์โดยใช่เหตุ ที่ถึงแม้นายสันต์ ศรีแก้วหล่อ (ผู้กำกับแม่หยัว) จะออกมาชี้แจงชัดเจนว่ามีผู้เชี่ยวชาญดูแลระหว่างการถ่ายทำ รวมถึงตอนนี้น้องแมวปลอดภัยดี และจะเปิดเผยใบรับแพทย์เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจสุขภาพแมวใหม่อีกรอบให้รับทราบกันต่อไป
ล่าสุด มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ โพสต์ชี้แจงว่าตอนนี้กำลังรอผลการตรวจสอบจากกรมปศุศัตว์ และขอเทปถ่ายทำ-นำแมวมาตรวจสุขภาพและอัตลักษณ์ พร้อมตามประเด็นสำคัญเพื่อให้มีการสอบสวน เนื่องจากความผิดเกิดขึ้นสำเร็จแล้วตามดังนี้
1. การวางยาสลบในสัตว์ต้องกระทำโดยสัตวแพทย์เท่านั้น ตามกฎหมาย พรบ.วิชาชีพการสัตวแพทย์ และต้องเป็นไปเพื่อการรักษาชีวิตของสัตว์ ไม่ใช่นำสัตว์มาเสี่ยงกับอันตรายที่จะเกิดจากการวางยาสลบ หาก “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ผู้กำกับละครชี้แจงมา มิใช่สัตวแพทย์ ผู้รับผิดชอบกองถ่ายละครและเจ้าของสัตว์ จะต้องมีความผิดตามกฎหมาย พรบ.วิชาชีพการสัตวแพทย์
2. หากผู้เชี่ยวชาญที่ผู้กำกับละครชี้แจงมา เป็นสัตวแพทย์ ก็ต้องดูในเรื่องจรรยาบรรณ-พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมมเพราะการวางยาสลบในสัตว์ โดยเจตนาให้สัตว์ได้รับอาหาร จนแสดงอาการขย้อนและกระตุกจนสลบแน่นิ่ง เป็นเจตนาทำให้สัตว์อยู่ในความเสี่ยงและเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการใช้ยาสลบ เนื่องจากหลักการทางวิชาการในการทำให้สัตว์สลบ จะต้องมีการงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนการใช้ยา เพื่อป้องกันมิให้สัตว์ขย้อนจนสำลักอาหารเข้าสู่หลอดลมขณะอยู่ในภาวะสลบ
ดังนั้น ในเมื่อมีการกระทำที่ตรงกันข้ามกับหลักการและจรรยาบรรณ เพื่อหวังประโยชน์จากการใช้งานสัตว์ ผู้รับผิดชอบกองถ่ายละคร เจ้าของสัตว์ และสัตวแพทย์ จึงมีความผิดทารุณกรรมสัตว์ ตามกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
ขณะที่ฝั่งสัตวแพทยสภา ได้ออกมาระบุว่ารับทราบประเด็นการวางยาสลบแมวในแม่หยัวเรียบร้อยแล้ว โดยตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการต่อไป พร้อมโพสต์บทความเรื่อง “อันตรายและข้อควรระวังในการวางยาสลบสัตว์” โดย ผศ. สัตวแพทย์หญิง ดร.สิริรัตน์ นิยม เพื่อแจงเป็นความรู้แก่สังคมว่า
การวางยาสลบในทางสัตวแพทย์เป็นกระบวนการที่ทำให้สัตว์เกิดสภาวะหมดความรู้สึกของร่างกาย การตอบสนองต่อสิ่งเร้าลดลงหรือหมดไป เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำหัตถการต่อสัตว์ในการป้องกัน การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคที่สัตวแพทย์ไม่สามารถกระทำในขณะที่สัตว์รู้สึกตัวได้ หรือนำมาใช้ในการจับบังคับสัตว์ที่ควบคุมได้ยากเพื่อการเคลื่อนย้ายสัตว์ เป็นต้น
การให้ยาสลบนั้นมีสิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลายประการ เนื่องจากฤทธิ์ของยาที่นอกเหนือไปจากการทำให้สัตว์หมดสติแล้วยังมีผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย ทั้งระบบประสาท ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบต่อมไร้ท่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลข้างเคียงต่อระบบไหลเวียนโลหิต และระบบทางเดินหายใจ ที่ถูกกดการทำงานมากขึ้น เมื่อระดับการสลบลึกขึ้น ผลข้างเคียงจะแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของยาสลบและยานำสลบที่ใช้
การประเมินสุขภาพสัตว์อย่างละเอียดรอบคอบครบถ้วนสมบูรณ์นั้น จึงเป็นสิ่งที่สัตวแพทย์จะต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เพียงพอ ในการนำมาวางแผนเตรียมตัว ปรับสภาพร่างกายสัตว์ให้มีความพร้อมต่อการรับการวางยาสลบ และเลือกใช้ชนิดยาในการวางยาได้อย่างเหมาะสม ลดโอกาสของการเกิดผลไม่พึงประสงค์ได้
นอกจากนี้พึงตระหนักว่าภาวะแทรกช้อนในการวางยาสลบสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทุกช่วงเวลา ตั้งแต่เริ่มต้นให้ยานำสลบกลุ่ม premedication ขณะเหนี่ยวนำการสลบ ขณะคงภาวะสลบ ไปจนกระทั่งระยะพักฟื้นหรือขณะสัตว์ตื่นจากการสลบ
ดังนั้น การวางยาสลบสัตว์จึงควรดำเนินการ หรือควบคุมการดำเนินการอย่างใกล้ชิดโดยสัตวแพทย์ และควรมีการวางแผนให้มีอุปกรณ์และผู้เฝ้าระวังติดตามสัญญาณชีพของสัตว์ อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา มีการปรับระดับความลึกของการสลบให้เหมาะสม และมีการเตรียมพร้อมทั้ง ทางด้านอุปกรณ์ สารน้ำ และเวชภัณฑ์ฉุกเฉิน ที่ทำให้สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาแทรกช้อนเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที
การกระทำที่ไม่รอบคอบหรือไม่มีการวางแผนเตรียมความพร้อมอย่างถูกต้อง หรือการวางยาสลบในสัตว์โดยไม่มีเหตุจำเป็น อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงให้สัตว์ได้รับอันตรายจนถึงเสียชีวิตได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สัตวแพทยสภา เตือน อันตรายวางยาสลบสัตว์ ดราม่าร้อนแบนแม่หยัว
- ต๊ะ นารากร เทียบ 2 ช่องยักษ์ แก้ปัญหาดราม่า ปมวางยาสลบแมว ซีรีส์แม่หยัว
- บอสณวัฒน์ ติงละคร แม่หยัว วางยาสลบแมว ถามกลับ สัตว์ได้อะไรจากฉากแบบนี้