คนไทยแห่ค้าน ‘อนุทิน’ ดันวัฒนธรรมร่วมเขมร ชี้บรรพบุรุษสร้างมานาน ควรหวงแหน
ชาวเน็ตผุดแฮชแท็กค้านอนุทิน เยือนกัมพูชา พบ “ฮุน มาเนต” เปรยนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ วัฒนธรรมร่วม ชาวเน็ตไม่ทน เล่นแฮชแท็ก #คัดค้านการใช้วัฒนธรรมร่วมกับเขมร ด่ากราดพวกขายชาติ
จากกรณีที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. มหาดไทย ได้นำคณะ เข้าพบ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2567 โดยมีเจตจำนงเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี และยืนยันความปราถนาดีระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐบาลไทยระบุว่า นาย อนุทิน ได้พูดถึงนโยบายเชิงวัฒนธรรมของทั้ง 2 ประเทศ โดยกล่าวว่า “กัมพูชาและไทยมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน เราจะใช้โอกาสนี้ในการขยายและพัฒนาด้านวัฒนธรรม สร้างสรรค์พื้นฐานเดียวกันนี้ให้เป็นซอฟท์เพาเวอร์ที่ดีร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว เกิดเป็นงานและอาชีพของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ”
ต่อมาเมื่อข่าวคราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ จึงเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวใน X (ทวิตเตอร์) ซึ่งมีผู้ใช้งานจำนวนมากร่วมกันเล่นแฮชแท็ก #คัดค้านการใช้วัฒนธรรมร่วมกับเขมร แสดงออกถึงความไม่พอใจในสิ่งที่อนุทินได้พูดไว้ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการนำวัฒนธรรมไปร่วมกับวัฒนธรรมเขมร
จากการสำรวจความคิดเห็นในแฮชแท็กดังกล่าว พบว่าชาวโซเชียลส่วนใหญ่กังวลใจว่าวัฒนธรรมและศิลปะของไทย จะถูกดูดกลืนให้เป็นสิ่งเดียวกับประเทศกัมพูชา โดยมีหลายเหตุการณ์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ทั้งเรื่องเครื่องแต่งกายแบบพระราชพิธี รวมถึงชุดไทย และศิลปะการแสดงต่าง ๆ ที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างขึ้น และมีคนรุ่นใหม่สืบทอดต่อกันมา แต่กลับถูกชาวกัมพูชาบางส่วนนำไปกล่าวหาว่าเป็นสิ่งที่ลอกเลียนแบบมาจากวัฒนธรรมเขมร
ด้วยเหตุนี้หลายคอมเมนต์จึงตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลไทยไม่หวงแหนความเป็นไทยเลย พร้อมชี้ว่าไม่ควรนำเสนอนโยบายวัฒนธรรมร่วม โดยอ้างว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เพราะหากสิ่งที่นายอนุทินได้พูดไว้เกิดเป็นจริงขึ้นมา เกรงว่าสถานะความเป็นเจ้าของวัฒนธรรม รวมถึงเอกลักษณ์ต่าง ๆ ของไทยจะเลือนหายไป เพราะถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเขมร เสมือนว่า 2 ชาตินี้ร่วมสร้างมาด้วยกัน
อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำให้คนที่เชื่อว่าศิลปะของไทยเป็นของเขมร ยิ่งผลิตซ้ำความคิดนี้และส่งต่อไปสู่ลูกหลาน จนเกิดเป็นความเข้าใจผิดในระดับประเทศด้วย ซึ่งบางความคิดเห็นได้แนะนำอย่างสุภาพว่า ประเทศอื่น เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน ก็ไม่มีนโยนบายให้นับรวมเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะนั่นหมายถึงความเป็นชาติจะถูกลดทอนความสำคัญลงไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านมาหลายวันแล้ว แต่กระแสโซเชียลก็ยังคงร้อนแรง และมีผู้ใช้งานเข้าไปแสดงความคิดเห็นในแฮชแท็กเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คงต้องรอติดตามต่อไปว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะออกมาชี้แจงหรือตอบโต้ในประเด็นดังกล่าวอย่างไรบ้าง.
อ้างอิง : เว็บไซต์ รัฐบาลไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เขมรเคลมเรือพระราชพิธี แซะ ถ้าทำเองคงสวยกว่า คนไทยท้า อยากเห็นของจริงจังเลย
- มัมหมีว่าไง “หมูเด้ง” โดนเขมรเคลม อ้างอยู่ในสวนสัตว์กัมพูชา ชื่อใหม่ ‘กระเด้งจรุก’
- หลิน มาลิน ร่ำไห้ กัมพูชา ไม่ตรงปก-ไม่ปลอดภัย บอสณวัฒน์ แก้ปัญหาจนนาทีสุดท้าย