ครูฝึก ศฝร.ภ.5 โต้ไม่มีซ้อมโหด หลังนักเรียนนายสิบถูกหามส่ง รพ.
ครูฝึกตำรวจภาค 5 โต้ไม่มีการซ้อมโหด หลังนักเรียนนายสิบถูกหามส่งโรงพยาบาลแอดมิท 4 คน ชี้ 30 ปีที่แล้วฝึกโหดกว่านี้
จากกรณีที่มีรายงานว่า นักเรียนนายสิบตำรวจ (นสต.) ถูกครูฝึก ศฝร.ภ.5 ทารุณ ลงโทษหนักจนหมดสติช็อก และเป็นลม แอดมิทโรงพยาบาล 4 คน และมีอาการเหนื่อยหมดแรงอีกประมาณ 10 คน จนรถกู้ภัย รพ.ห้างฉัตร อ.ห้างฉัตร ต้องเข้าไปรับตัว เมื่อช่วงเวลาประมาณ 22.30 น. วันที่ 24 ต.ค. 67 ตามที่มีรายงานไปก่อนหน้านี้นั้น
ล่าสุด ครู จ. เจ้าหน้าที่ฝ่ายพยาบาล เปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่ปรากฏในข่าวว่า ทราบว่าเจ้าหน้าที่ที่เป็นครูฝึกได้นำส่งนักเรียนไปยังโรงพยาบาลเอง โดยใช้รถ Ambulance ของศูนย์ฝึกฯ ดังนั้นฝ่ายพยาบาลจึงไม่ได้รับการประสานในตอนแรก แต่ทราบว่าปัจจุบันนักเรียนทุกคนอาการดีขึ้นจนเกือบปกติแล้ว บางส่วนจึงสามารถกลับมาฝึกได้เหมือนเดิม
ทั้งนี้รูปแบบการฝึกสมัยตอนที่ยังเป็นนักเรียนเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว กับปัจจุบันต่างกันลิบลิ่ว สมัยตนฝึกแค่ 1 ปี แต่ปัจจุบันฝึก 1 ปีครึ่ง เพราะมีวิชาที่ต้องเรียนเพิ่มขึ้น บวกกับความหนักในการฝึกมันไม่ในอดีต เรียกว่าถ้าแบ่งเป็น 4 ระดับ ปัจจุบันความหนักในการฝึกอยู่แค่ระดับ 1 ก็ว่าได้
แต่ภายใต้คำว่าโหดนั้น ก็จะมีเหตุผลต่างกันไป เพราะกลางคืนมักจะมีนักเรียนแอบซน หายไปจากโรงนอน พอครูฝึกมาเช็กยอดแล้วไม่ครบ ก็ต้องมีการรับผิดชอบร่วมกันด้วยการโดนซ่อม ซึ่งการซ่อมก็เพื่อให้ธำรงไว้ซึ่งวินัย เช่น พุ่งเท้า ดันพื้น วิ่งรอบลานฝึก และยอมรับว่ามันก็จะมีบางคนที่ร่างกายไม่แข็งแรงเท่าคนอื่น ก็เลยเกิดอาการเป็นลม แต่ก็จะมีจำนวนที่น้อย และไม่เคยถึงขั้นเลือดตกยางออก ถ้าไม่ไหวก็จะให้หยุด ไม่มีการใช้ความรุนแรง หรือถ้าอาการหนัก ก็จะส่งโรงพยาบาลทันที
ต่างจากปัจจุบันที่ความอดทนของนักเรียนไม่ได้มีเท่าสมัยตน อาจจะเนื่องจากพื้นฐานของการเลี้ยงดู แต่อย่างไรก็ตาม ตนขอยืนยันว่า แม้ว่าจะมีการซ่อม แต่ก็ไม่ได้ซ่อมด้วยอารมณ์ หรือความซาดิสม์หลายชั่วโมงติดต่อกันตามที่เป็นข่าว เพราะครูฝึกจะเน้นไปที่การใช้ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ถ่ายทอดให้กับนักเรียนมากกว่า ทั้งเรื่องของกฎหมาย การปฏิบัติด้านยุทธวิธี เลี่ยงการได้รับบาดเจ็บ จุดประสงค์ก็เพื่อให้นักเรียนที่ผ่านการฝึก จบไปแล้วสามารถใช้วิชาความรู้ทำงานและใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย
ส่วนเรื่องของการยึดโทรศัพท์มือถือนั้น ตนมองว่าต้องมองที่เหตุผล เพราะส่วนใหญ่นักเรียนจะชอบแอบเล่นโทรศัพท์ในช่วงกลางคืน แล้วด้วยกำหนดการของการฝึกค่อยข้างเข้ม โดยนักเรียนจะต้องตื่นตั้งแต่ 05.00 น. เพื่อฝึกพละ เช่น ศิลปะป้องกันตัวมวยไทย ยูโด เป็นต้น และทำธุระส่วนตัว จากนั้น 07.30 น. ก็กินข้าวเช้า ต่อด้วยเคารพธงชาติตอน 08.00 น. แล้วก็เรียนตั้งแต่ 08.15 น. ก่อนจะมีการพักกินข้าวกลางวันตอน 12.00 น. แล้วก็ไปเรียนต่อในอาคารเรียน จากนั้นประมาณ 15.00 น. ก็จะเข้าสู่วิชาการฝึก อาทิยุทธวิธี การค้นตัวบุคคล เป็นต้น ยาวไปจนถึงประมาณ 17.00 น. แล้ว 17.30 น. ก็ทำธุระส่วนตัว จนถึง 18.00 น. ก็เคารพธงชาติ กินข้าวเย็น แล้วปล่อยตามอัธยาศัย ก่อนจะขึ้นโรงนอน ดังนั้นด้วยเวลากิจกรรมที่ถูกกำหนดไว้แล้ว หากมัวแต่เล่นโทรศัพท์ ก็จะทำให้นอนไม่เพียงพอ ทั้งยังส่งผลต่อเพื่อนคนอื่นด้วย
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ตำรวจภูธรภาค 5 ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า ตำรวจภูธรภาค 5 ได้รับรายงานจากศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 ซึ่งได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเหตุดังกล่าวข้างต้นว่า เป็นกรณีเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา ห้วงเวลา 20.00 – 21.00 น. ซึ่งเป็นชั่วโมงการกวดขันวินัยนักเรียนนายสิบตำรวจของครูฝึกตามปกติ และเป็นชั่วโมงผู้บังคับบัญชา
ระหว่างชี้แจงข้อราชการนั้น ครูฝึกเห็นว่านักเรียนไม่มีระเบียบวินัย จึงมีการสั่งให้ลงโทษทางวินัย โดยใช้ท่ากายบริหารปกติ แต่ปรากฏว่ามีนักเรียน 3 นาย ลักษณะอ่อนเพลียจะเป็นลม ครูฝึกได้ปฐมพยาบาลในเบื้องต้น และนำทั้ง 3 นาย ส่งโรงพยาบาลห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ซึ่งแพทย์ได้ให้ความเห็นวินิจฉัยโรคว่า เป็นกลุ่มอาการไฮเปอร์เวนทิเลชั่น (Hyperventilation)
เมื่อนักเรียนทั้ง 3 นายมีอาการดีขึ้น ครูฝึกจึงนำกลับมาพักผ่อนที่กองร้อย วันรุ่งขึ้นก็ได้เข้าเรียนตามปกติ ไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 ได้ออกคำสั่งที่ 300/2567 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่ครูฝึก จำนวน 4 นาย ไปปฏิบัติหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 และอยู่ระหว่างการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง