เปิดจุดเริ่มต้น “เจ๊อ้อย” เป็นใครมาจากไหน ผ่าปมขัดแย้ง “ทนายตั้ม” 71 ล้านบาท
ประวัติ “เจ๊อ้อย” เศรษฐินีธุรกิจเบเกอรีแห่งประเทศฝรั่งเศส ผู้แจ้งความฉ้อโกง ทนายตั้ม ษิทรา ปมลงทุนหวยออนไลน์ 71 ล้านบาท
จากกรณีดราม่าระหว่าง น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือ มาดามอ้อย เศรษฐินีชาวไทยที่อาศัยอยู่ประเทศฝรั่งเศส เข้าแจ้งความ “ทนายตั้ม” ษิทรา เบี้ยบังเกิด ฐานฉ้อโกงประชาชน ประเด็นลงทุนแพลตฟอร์มหวยออนไลน์ 71 ล้านบาท ที่นอกจากคู่กรณีดังกล่าว ฝั่งทนายยังมีการท้าทาย “สนธิ” ซึ่งเป็นบุคคลที่สามเข้ามาข้องเกี่ยวจนกลายเป็นมหากาฬลากไส้กันยันยับเยิน
ทว่าชาวเน็ตส่วนใหญ่อาจไม่คุ้นชื่อเจ๊อ้อยว่าเป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงรวยระดับลงทุนไป 71 ล้านบาทแต่ขนหน้าแข้งยังไม่ร่วง ทีมงานไทยเกอร์จึงขอพาผู้อ่านไปย้อนประวัติทำความรู้จักกับเศรษฐินีท่านนี้ถึงจุดเริ่มต้นความรวยกัน
อ้างอิงจาก ลุงเหน่ง พี่ชายเจ๊อ้อย อายุ 66 ปี เล่าว่า เดิมทีเจ๊อ้อยมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา หลังได้สามีชาวต่างชาติได้ย้ายไปอยู่ด้วยกันที่ประเทศฝรั่งเศส แถมโชคดีถูกหวยรับทรัพย์ไปราว 5 พันล้านบาทเมื่อปี 2563 จนขึ้นแท่นเศรษฐินีเจ้าของธุรกิจร้านเบเกอรีหน้าใหม่ในเวลานั้น
ตั้งแต่นั้นเจ๊อ้อยเดินสายทำบุญเริ่มบริจาคเงินให้กับมูลนิธิ ช่วยเหลือโรงเรียนวัดต่าง ๆ ในช่วงโควิด 19 รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
จุดเริ่มต้นปมขัดแย้ง ทนายตั้ม-มาดามอ้อย
เวลาผ่านไป มาดามอ้อยเริ่มรู้จักชื่อเสียงทนายตั้มจากคดีหวยครูปรีชา (ในฐานะทนายของหมวดจรูญ) ผนวกตนเป็นแฟนคลับของเจ้าตัว ทำให้เจ๊อ้อยตัดสินใจให้เลขาส่วนตัวติดต่อปรึกษาธุระก่อสร้าง-รีโนเวทโรงเรียน เช่น สัญญาผู้รับเหมา ฯลฯ รวมถึงข้อกฎหมายทั่วไปเมื่อครั้งย้ายกลับมาอยู่ไทยใหม่ ๆ (ปี 65)
ช่วงแรกฝั่งเลขาเจ๊อ้อยกล่าวว่ามีการจ้างเดือนละ 30,000 บาทในการเดินทางมาวันแรก ทว่าภายหลังมีการร่างสัญญาจากทนายตั้มเป็นการจ้างเดือนละ 300,000 บาทแทน โดยโอนผ่านบัญชีพี่สาวของภรรยาเจ้าตัว รวมถึงงวดต่าง ๆ ผ่านบุคคล ไม่ผ่านบริษัทใด ๆ ทั้งสิ้น
1 ปีผ่านไป “มาดามอ้อย” ตัดสินใจยกเลิกสัญญาเพราะไม่ได้มีการดำเนินการอะไร พร้อมเปลี่ยนไปเป็นการจ้างตามเคสแทน เช่น ปรึกษา ฯลฯ ที่ถึงแม้ฝั่งทนายจะมีการมาบอกหลังไมค์ผ่านเลขาว่าขอให้เจ๊อ้อยต่อสัญญาเพิ่มอีก 1 ปี แต่เลขาก็ไม่ได้บอกอะไรเจ๊อ้อยเพราะคิดว่าทนายก็ไม่ได้ทำอะไรอยู่แล้ว รวมถึงเอาเงินว่าจ้างไปให้ลูกเจ๊อ้อยดีกว่า
นอกจากนี้ในเวลานั้นทนายตั้มได้มีไปมาหาสู่เจ๊อ้อยที่ฝรั่งเศสด้วยเงินของเจ๊อ้อยเอง (กดจองตั๋วต่าง ๆ ด้วยตัวเอง) แถมพาครอบครัวมาใช้ชีวิตหรูหราพร้อมหน้า กระทั่งเริ่มมีการเอะใจกันเนื่องจากเจ๊อ้อยฝากให้ทนายตั้มซื้อรถเบนซ์ G-Class สีดำไว้ขับเผื่อตอนกลับมาที่ไทย แต่ดันปรากฏว่ารถคนนี้ถูกเอาไปให้คนอื่นขับ จนมีการทวงคืนกัน แต่ไม่มีกุญแจสำรอง สุดท้ายเจ๊อ้อยก็ได้กุญแจคืนที่ศาล
ส่วนประเด็นฉ้อโกง 71 ล้านบาทที่กำลังเอาความนั้นเป็น เกิดจากเจ๊อ้อยฝากเรื่องให้ทนายตั้มนำเงินมาลงทุนทำแพลตฟอร์มหวยออนไลน์ ทว่าเรื่องกลับเงียบ ไม่มีการดำเนินการใด ๆ จนนำสู่ประเด็นขัดแย้งในปัจจุบันที่ฝ่ายเจ๊อ้อยจะไม่ยอมความเด็ดขาด และเลือกที่จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดนั่นเอง.
ทั้งนี้นอกจากประเด็นข่างต้น ทีมงานไทยเกอร์ได้ทำการตรวจสอบธุรกิจของเจ๊อ้อยผ่านเว็บไซต์ Creden Data (ฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) พบว่าปัจจุบัน เจ๊อ้อย หรือ จตุพร อุบลเลิศ เป็นกรรมการบริษัท 3 แห่ง (หนึ่งในนั้นเสร็จการชำระบัญชี) และถือหุ้น 3 รายการ มูลค่าหุ้นทั้งหมด 1,111,727 บาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
บริษัท ดีวีเจ แอนด์ ซัน จำกัด
บริษัท ดีวีเจ แอนด์ ซัน จำกัด (DVJ & SON COMPANY LIMITED) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 67 โดยทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 100 ล้านบาท พบรายชื่อ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัท และถือหุ้นจำนวน 849,500 หุ้น (99.94%) มูลค่าหุ้น 0 บาท ดำเนินธุรกิจประกอบธุรกิจ ให้เช่า เซ้งอสังหาริมทรัพย์
บริษัท แองเจิล เจ จำกัด
บริษัท แองเจิล เจ จำกัด (ANGEL J COMPANY LIMITED) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 67 โดยทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 140 ล้านบาท พบรายชื่อ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัท และถือหุ้นจำนวน 49,500 หุ้น (99.00%) มูลค่าหุ้น 0 บาท ดำเนินธุรกิจประกอบธุรกิจโรงแรม
บริษัท แองเจิ้ล จตุพร จำกัด
บริษัท แองเจิ้ล จตุพร จำกัด (ANGEL JATUPORN CO., LTD.) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 65 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท พบรายชื่อ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ เป็นกรรมการบริษัท และอหุ้นจำนวน 45,000 หุ้น (90.00%) มูลค่าหุ้น 1,111,727 บาท ดำเนินธุรกิจให้บริการโรงแรม ปัจจุบันมีสถานภาพกิจการเป็นเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 67 ซึ่งมีผลประกอบการย้อนหลังดังนี้
- ปี 2565 รายได้ 0 บาท ขาดทุน 6,999 บาท
- ปี 2566 รายได้ 0 บาท ขาดทุน 7,749 บาท
สินทรัพย์รวม 1,243,211 บาท : หนี้สินรวม 7,959 บาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง