ข่าว

ตำนาน พิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือพระราชพิธี ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

รู้จัก “แม่ย่านาง” จากตำนานกุ้งเจาะเรือ สู่เทพผู้พิทักษ์พาหนะ ความเชื่อที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน หนึ่งในพิธีสำคัญก่อนจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค วันที่ 27 ตุลาคม 2567

วันอาทิตย์นี้ 27 ตุลาคม 2567 นับเป็นวันประวัติศาสตร์ ที่พสกนิกรชาวไทยจะได้ชื่นชมพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นครั้งแรกในรัชกาล เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

Advertisements

เช้าวันนี้ พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เผยว่า การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งกองทัพเรือได้ทุ่มเทฝึกซ้อม และบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อแสดงพลังความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

กองทัพเรือได้เตรียมความพร้อมอย่างยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ ด้วยเรือพระราชพิธี 52 ลำ กำลังพล 2,412 นาย อวดโฉมริ้วขบวน 5 ริ้ว 3 สาย โดยมีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งประธาน และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 กับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งรอง

ไฮไลท์สำคัญคือ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ซึ่งทำหน้าที่เชิญผ้าพระกฐิน และเรือรูปสัตว์นานาชนิด ที่จะมาร่วมขบวน สร้างสีสัน และความงดงาม ตามราชประเพณี

ประชาชนสามารถเฝ้าฯ รับเสด็จ และชื่นชมพระบารมี ได้ตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรี รวม 14 จุด ตั้งแต่ ท่าวาสุกรี ไปจนถึง วัดอรุณราชวราราม

ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม
ภาพจาก กรมประชาสัมพันธ์

ประวัติ พิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ มีอะไรบ้าง

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า “แม่ย่านาง” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยนับถือกันมาอย่างยาวนาน โดยเชื่อกันว่าแม่ย่านางมักสถิตอยู่ในพาหนะ คอยปกปักรักษา คุ้มครองผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร ให้เดินทางปลอดภัย แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุ

Advertisements

มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับ “แม่ย่านาง” มากมาย ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น แต่ที่น่าสนใจ คือ ตำนาน 2 เรื่องนี้

| ตำนานกุ้งเจาะเรือ

เรื่องราวเริ่มต้นจาก พระอิศวร และ พระแม่อุมา เสด็จประพาสทะเล กุ้งได้ร้องเรียนว่า ตนเองอ่อนแอ ถูกสัตว์อื่นจับกิน พระแม่อุมาจึงประทานพรให้มีอาวุธ แต่กุ้งกลับใช้อาวุธนั้น เจาะเรือสำเภาจนล่ม สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คน พระแม่อุมาจึงสั่งให้ พระอนันตนาคราช ไปปราบกุ้ง และสาปให้กุ้งกลายเป็น “แม่ย่านางเรือ” คอยปกป้องคุ้มครองเรือ แทนการทำลาย

| ตำนานลูกสาวชาวประมง

เรื่องราวของเจ้ายอดสวรรค์ ลูกสาวชาวประมง ที่ฝันเห็นเรือของพ่อ และพี่ชาย กำลังจะอับปาง จึงใช้ปากคาบเรือพ่อ และใช้มือทั้งสองข้าง คว้าเรือพี่ชายไว้ จนกระทั่งตื่นขึ้นมา เพราะเสียงแม่เรียก ปรากฏว่า เรือพ่ออับปางจริง แต่พี่ชายรอดชีวิต เพราะมีคนช่วยไว้ ซึ่งเชื่อกันว่า “เจ้ายอดสวรรค์” คือผู้ช่วยเหลือพี่ชาย นั่นเอง

ความเชื่อเรื่อง “แม่ย่านาง” ยังคงอยู่คู่กับคนไทย มาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแวดวงการเดินเรือ และการขนส่ง มักมีพิธีบวงสรวง “แม่ย่านาง” ก่อนออกเดินทาง เพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อขอให้ “แม่ย่านาง” ช่วยคุ้มครอง ให้เดินทางปลอดภัย

| พิธีกรรมบวงสรวงแม่ย่านางเรือ

เพื่อความเป็นสิริมงคล ชาวเรือจึงนิยมประกอบพิธีบวงสรวง “แม่ย่านางเรือ” ก่อนออกเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรือประมง และเรือแข่ง

ตัวอย่างเช่นใน ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ก็มีพิธีบวงสรวง “แม่ย่านางเรือ” เช่นกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความเชื่อ และ วัฒนธรรม ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน

รู้จัก แม่ย่านาง จากตำนานกุ้งเจาะเรือ สู่เทพผู้พิทักษ์พาหนะ
ภาพจาก กรมประชาสัมพันธ์

| ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม

เตรียมเครื่องเซ่นไหว้: ประกอบด้วย อาหารคาวหวาน ผลไม้มงคล บายศรี 9 ชั้น และ “บัด” 3 ชนิด ได้แก่ บัดพระเกศ บัดพระภูมิ และบัดพระกุมภารี

  1. จุดธูปเทียน และกล่าวคำบูชา
  2. ปักธู ที่เครื่องเซ่นไหว้
  3. พราหมณ์อ่านโองการ บวงสรวง และอัญเชิญแม่ย่านางเรือ
  4. โปรยข้าวตอกดอกไม้
  5. ดื่มน้ำมนต์ และรับผ้าโพกศีรษะ
  6. รำบวงสรวง
  7. นำเรือลงน้ำ

| ความหมายและความสำคัญของพิธีกรรม

พิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ เป็นการแสดงความเคารพ และความกตัญญู ต่อ “แม่ย่านางเรือ” รวมถึง “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่ปกปักรักษา เพื่อขอพรให้เดินทางปลอดภัย ประสบความสำเร็จ และเป็นสิริมงคล

(อ้างอิง : กรมศิลปากร.นามานุกรมขนบประเพณีไทย หมวดประเพณีราษฎร์ เล่ม ๓(คติความเชื่อ).พิมพ์ครั้งแรก.กรุงเทพฯ :บริษัท แอดวานซ์ วิชั่น เซอร์วิส จำกัด , ๒๕๕๒ หน้า ๒๒๗-๒๒๘)

ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 27 – 29 กรกฎาคม 2567 กองทัพเรือ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต อัญเชิญเรือพระที่นั่ง จำนวน 3 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จัดแสดงแบบผูกทุ่น ประกอบกาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมทั้งจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ณ บริเวณท่าราชวรดิฐ ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ในการบูรณะเรือพระราชพิธี ทั้ง 52 ลำ ปัจจุบันได้ดำเนินการซ่อมทำและตกแต่งตัวเรือ เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นการอัญเชิญเรือพระที่นั่งไปยังอู่หมายเลขหนึ่ง อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เพื่อเตรียมการในส่วนของการฝึกซ้อมฝีพาย โดยจะเริ่มทำการซ้อมย่อยเป็นรูปขบวนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 10 ครั้ง ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 ในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 สิงหาคม 2567
  • ครั้งที่ 3 ในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ครั้งที่ 4 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2567
  • ครั้งที่ 5 ในวันที่ 3 กันยายน 2567 ครั้งที่ 6 ในวันที่ 12 กันยายน 2567
  • ครั้งที่ 7 ในวันที่ 19 กันยายน 2567 ครั้งที่ 8 ในวันที่ 26 กันยายน 2567
  • ครั้งที่ 9 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ครั้งที่ 10 ในวันที่ 10 ตุลาคม 2567

จากนั้นจะเป็นการซ้อมใหญ่ จำนวน 2 ครั้งในวันที่ 15 และ 22 ตุลาคม และซ้อมเก็บความเรียบร้อยในวันที่ 24 ตุลาคม โดยประชาชนที่มีความสนใจรับชมการฝึกซ้อมฝีพายและความงดงามของขบวนเรือพระราชพิธี ที่นับว่าเป็นหนึ่งเดียวในโลก สามารถรับชมได้ตลอด 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานพระราม 8 จนถึง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ประวัติ พิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ มีอะไรบ้าง
ภาพจาก กรมประชาสัมพันธ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : กรมประชาสัมพันธ์, กองทัพเรือ Royal Thai Navy 1, สำนักข่าวไทย NBT Connext, ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button