ถ่ายทอดสด ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ถวายผ้าพระกฐิน 2567
วันที่ 27 ตุลาคม รับชมถ่ายทอดสดทั่วกรุงเทพฯ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประจำปี 2567 ตั้งแต่เวลา 15.00-17.00 น. คาดการณ์ฝนฟ้าเป็นใจ พร้อมแนะนำ 14 จุดชมพระราชพิธีริมแม่น้ำเจ้าพระยา
กองทัพเรือ (Royal Thai Navy) ถ่ายทอดสด พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 งานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ทางขบวนพยุหยาตราทางชลมารค วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 15:00 น. ถึงเวลา 17:00 น. ทางช่องโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และดูออนไลน์เฟซบุ๊ก เพจพระลาน
สถานที่ดูสด ขบวนเรือพยุหยาตรา 2567 จำนวน 14 แห่งในกรุงเทพ
เปิด 14 จุดชม “เรือพระราชพิธีขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 นี้ เตรียมพบกับ อันยิ่งใหญ่ และงดงาม โดยประชาชนสามารถรับชมขบวนเรือพระราชพิธี ได้ตามจุดต่าง ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 14 จุด ดังนี้
- แนวริมน้ำ ธนาคารแห่งประเทศไทย
- ใต้สะพานพระราม 8 (ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย)
- ใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี)
- ทางเดินริมน้ำ สวนสันติชัยปราการ
- ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
- ลาน 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
- สวนสุขภาพฯ รพ.ศิริราช
- ลานปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
- อัฒจันทร์ อุทยานสถานพิมุข รพ.ศิริราช
- ท่าช้าง
- วัดระฆังโฆสิตาราม
- ท่าเตียน
- ท่าเรือวัดโพธิ์
- วัดอรุณราชวราราม
สภาพอากาศในวันพระราชพิธี
สภาพแวดล้อมทางภูมิอากาศ กองทัพเรือ โดยกรมอุทกศาสตร์ ได้พยากรณ์ว่า ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ช่วงเวลา 13:00 น. – 17:00 น. มีโอกาสเกิดฝน 40-60 เปอร์เซนต์ และอาจมีลมแปรปรวน แต่ทั้งสภาพอากาศและกระแสน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จะไม่มีผลกระทบต่อการจัดขบวนเรือฯ
อย่างไรก็ดี กองทัพเรือได้เตรียมความพร้อมกรณีเกิดสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยมีแผนรองรับในทุกด้าน ทั้งนี้ กำลังพลทุกนายของกองทัพเรือ จะถวายความปลอดภัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์สูงสุด และจะถวายงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างามและสมพระเกียรติ
ในกรณีที่กองทัพเรือจำเป็นต้องปรับแผนการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ใน 27 ตุลาคม 2567 กองทัพเรือจะออกประกาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงของกองทัพเรือ (ส.ทร.) รวมทั้งขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ของกองทัพเรือที่อยู่สองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อแจ้งให้พี่น้องประชาชนที่มารอชื่นชมพระบารมีและขบวนพยุหยาตราทางชลมารคได้รับทราบโดยทั่วกัน
>>บรรยากาศพิธีซ้อมใหญ่ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 ก่อนวันจริง<<
การนี้ กองทัพเรือขอเชิญชวนประชาชนชาวไทย ร่วมใจแต่งกายในโทนสีเหลือง และมาร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ และชื่นชมพระบารมี ตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงวัดอรุณราชวราราม ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ระหว่างเวลา 15:00 น. ถึงเวลา 17:00 น.
สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไปชมริมแม่น้ำ สามารถรับชมการถ่ายทอดสด ผ่านจอ LED ขนาดใหญ่ พร้อมเครื่องขยายเสียง ณ จุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ จำนวน 14 จุด ดังนี้
- วัดอรุณราชวราราม
- วัดระฆังโฆสิตาราม
- ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า
- ลาน 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
- สวนสันติชัยปราการ
- ราชนาวีสโมสร
- อุทยานพิมุขสถาน
- ลานพลับพลาสยามินทราศิริราชานุสรณีย์
- ลานทัศนาภิรมย์ หอประชุมกองทัพเรือ
- ลานปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
- ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งบางพลัด
- ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทย
- สวนนคราภิรมย์
- ลานคนเมือง กทม.
เอกสารที่ต้องใช้ในการเข้าชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
- บัตรประจำตัวประชาชน บัตรแสดงตน หรือหนังสือเดินทาง
- สิ่งของที่ควรเตรียม : น้ำดื่ม ร่ม และหมวกกันแดด
คลิปถ่ายทอดสด ขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค 2567
ประวัติความเป็นมา ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กับการถวายผ้าพระกฐิน
ประเพณี ถวายผ้าพระกฐิน มีรากฐานมาจากพุทธศาสนา สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล โดยเป็นการถวายผ้าไตรแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบถ้วนตลอด 3 เดือนในฤดูฝน ซึ่งเรียกว่า “กฐินทาน” พิธีนี้ถือเป็นกาลทาน หรือการถวายทานตามช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งต้องดำเนินการภายใน 1 เดือนหลังออกพรรษา (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12)
ในส่วนของ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ปรากฏหลักฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของ พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อเนื่องมาจนถึงรัตนโกสินทร์ เพื่อแสดงถึงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ขบวนเรือได้รับการจัดอย่างงดงามและวิจิตรบรรจง ทั้งนี้ยังเป็นการประกาศพระราชอำนาจและความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในเชิงสัญลักษณ์อีกด้วย
ขั้นตอนและการจัดการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย มีขั้นตอนสำคัญดังนี้
1. การเตรียมขบวนเรือ
ขบวนเรือประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง และ เรือประกอบ กว่า 50 ลำ โดยมีการจัดรูปขบวนเป็นลำดับชั้น มีความสมมาตรและงดงาม
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือประธานที่ประทับของพระมหากษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์
นอกจากนี้ยังมีเรือสำคัญ เช่น เรืออนันตนาคราช และ เรืออสุรปักษี ซึ่งล้วนสะท้อนศิลปะและตำนานในคติความเชื่อไทย
2. การจัดลำดับขบวน
ขบวนเรือแบ่งออกเป็น สี่กองหลัก ได้แก่
- กองเรือพระที่นั่ง
- กองเรืออัญเชิญผ้าพระกฐิน
- กองเรือพยุหยาตราริ้วขบวน
- กองเรือประกอบและเรือสนับสนุน
ขบวนจะเคลื่อนอย่างสง่างามตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้เวลาฝึกซ้อมและเตรียมงานล่วงหน้านานหลายเดือน เพื่อให้การเคลื่อนไหวของเรือเป็นไปอย่างพร้อมเพรียง
3. การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน
เมื่อขบวนเรือเคลื่อนถึงวัดที่เป็นเป้าหมาย เช่น วัดอรุณราชวราราม พระมหากษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์จะเสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่ง เพื่อประกอบพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินแก่คณะสงฆ์
พระราชพิธีประกอบด้วย การถวายผ้าพระกฐิน พร้อมทั้งเครื่องไทยธรรมต่างๆ แด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบไตรมาส
4. การสิ้นสุดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ขบวนเรือจะเคลื่อนกลับตามเส้นทางเดิม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนสองฝั่งแม่น้ำร่วมชื่นชมและถวายพระพรอย่างพร้อมเพรียง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- พิกัด 14 จุด ประชาชนเฝ้ารับเสด็จฯ ชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 27 ตุลาคม 2567
- เช็คอิน 30 ร้านอาหารริมน้ำ อยุธยา วิวโดนใจ อาหารอร่อยเด็ด ราคาสบายกระเป๋า
- เช็ก 6 ท่าเรือ ชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 ริมฝั่งเจ้าพระยา
อ้างอิง : กองทัพเรือ Royal Thai Navy – Official Channel, สํานักข่าวไทย TNAMCOT (MCOT)