‘เศรษฐา’ ยืนยัน “สมรสเท่าเทียม” เป็นสิทธิพื้นฐานที่ควรได้ เชื่อเป็นเพียงจุดเริ่มต้น
อดีตนายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ตอบสัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟ กับ ‘เดอะไทยเกอร์นิวส์’ เผยความรู้สึก หลัง “พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม” ผ่านมติเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา ยืนยัน เป็นสิทธิพื้นฐานที่ควรจะได้ และนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น
เมื่อวันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2567 ภายในงาน Small party เฉลิมฉลอง “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ที่จัดขึ้น ณ Sansiri Backyard ผู้สื่อข่าวเดอะไทยเกอร์นิวส์ ยายซอมบี้ สุภาวดี กันอุปัทว์ ได้มีโอกาสได้พบกับ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย จึงได้ถือโอกาสดี ขอสัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านมติเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2568
อดีตนายกฯ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ยอมรับว่า รู้สึกดีใจกับก้าวแรกที่สำคัญนี้ แต่ก็เชื่อว่าเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการนำมาสู่ความเท่าเทียมกันในสังคม เพราะหลังจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องผลักดันต่อไป ก่อนจะทิ้งท้ายว่า พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เป็นสิ่งที่คงจะต้องได้ โดยไม่จำเป็นต้องร้องขอ
รู้สึกอย่างไรที่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านเรียบร้อยแล้ว?
ย้อนหลังไป 4 – 5 ปีที่แล้ว ผมว่าไม่มีเหตุผลที่มันไม่ผ่าน มันเป็นสิทธิพื้นฐานที่มันควรจะต้องได้ แต่พอทำงานจริง ๆ แล้วมันก็เจอด่านต่าง ๆ เยอะไปหมด แต่วันนี้มันก็ผ่านแล้ว ก็ดีใจ แต่ผมเชื่อว่าภารกิจเพิ่งเริ่มต้น มันยังมีเรื่องคำนำหน้า เรื่อง Sex Worker มีกฏหมายย่อยอีกเยอะ ที่เราจะต้องยกระดับของ LGBTQ+ ขึ้นมา เพื่อให้เหมือนมีสิทธิเท่าเทียม พวกเรา (ประชาชนผู้สนับสนุน LGBTQ+) ไม่ได้ขอสิทธิเหนือ เราขอสิทธิที่มีความเท่าเทียม
อยากขอให้คุณเศรษฐา ฝากข้อความถึงเพื่อน ๆ LGBTQ+ ทุกคน ว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง
กฏหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นแล้ว แต่ผมเชื่อว่าเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น อย่างที่ผมบอกพวกเราต้องสู้กันต่อไป อย่าพอใจกับสิ่งที่มีอยู่ เพราะสิ่งที่เราขอนั้น เป็นอะไรที่มันไม่สมควรจะขอ เพราะมันเป็นสิทธิพื้นฐานที่เราสมควรจะได้
ทั้งนี้ อดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน นับเป็นอีกหนึ่งบุคลากรคนสำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างประชาชน และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+
@thethaiger_news สัมภาษณ์ อดีต นายก เศรษฐา ทวีสิน หรือ พี่นืด แบบชิดใกล้ เรื่องสมรสเท่าเทียม! #ข่าวtiktok #เศรษฐาทวีสิน #สมรสเท่าเทียม #LGBTq ♬ เสียงต้นฉบับ – The Thaiger News
อดีตนายกฯ ‘เศรษฐา’ กับการยืนหยัดเพื่อความเท่าเทียม
นับตั้งแต่ก่อนก้าวเข้าสู่สนามการเมือง จวบจนได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ เป็นหนึ่งในผู้เคารพความหลากหลายทางเพศ และพยายามที่จะยืนหยัดเพื่อความเท่าเทียมของบุคคลกลุ่มนี้เสมอมา
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 นายเศรษฐา ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ บมจ.แสนสิริ อยู่ในขณะนั้น ได้ออกมาทวีตข้อความผ่าน X (Twitter) @Thavisin ความว่า “แสนสิริให้พนักงานที่เป็น LGBTQ สามารถลาแต่งงานได้ 7 วัน เท่ากับการสมรสระหว่างชาย-หญิง เพราะเราทุกคนควรได้รับสิทธิ์อย่างเท่าเทียมเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพใด #Equality”
สิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์เรื่องความเท่าเทียมของผู้บริหาร ที่ถ่ายทอดผ่านการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมภายในสังคมบริษัท ซึ่งแม้จะเป็นสังคมเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับสังคมไทย แต่ก็ถือเป็นก้าวแห่งโอกาสในการเปลี่ยนแปลง
ต่อมา ในระหว่างที่นายเศรษฐา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย ก็เกิดการเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงก็ได้เริ่มต้นขึ้น เพราะพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ได้ผ่านการโหวตวาระที่หนึ่งด้วยคะแนนอันท่วมท้น
จนกระทั่งในที่สุด วันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ออกเผยแพร่ พระราชบัญญัติ เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือกฎหมาย สมรสเท่าเทียม ซึ่งมีเนื้อหารับรองการสมรสระหว่างบุคคล โดยไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง อีกต่อไป
ทางด้าน อดีตนายกฯ เศรษฐา ก็ได้ออกมาโพสต์แสดงความยินดีให้กับก้าวแห่งความเท่าเทียมที่ได้รับในครั้งนี้ ความว่า “อีกก้าวสำคัญของสังคมไทย กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้วครับ ความเสมอภาคและเท่าเทียมเป็นรูปธรรมในสังคมไทย ความหลากหลายทางเพศสภาพจะได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่เสียทีครับ ยินดีด้วยครับ”
แม้จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งจวบถึงวันแห่งชัยชนะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่า อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เฮ! ราชกิจจาฯ ประกาศ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เริ่มใช้ ม.ค. 68
- เปิดชื่อ 40 ประเทศรับรอง “สมรสเท่าเทียม” ไทยเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย
- เกาหลีเหยียดไทย หลังผ่าน “สมรสเท่าเทียม” ดราม่า วิจารณ์แรงสกปรก