ข่าว

ชมภาพ ‘ดวงจันทร์บังเสาร์’ ครั้งสุดท้าย ปรากฏการณ์หาชมยาก ปีนี้เกิดแค่ 2 ครั้ง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พาชมภาพปรากฏการณ์ ‘ดวงจันทร์บังดาวเสาร์’ ครั้งสุดท้ายของปี 2567 หาชมได้ยาก ปีนี้เกิดขึ้นแค่ 2 ครั้ง

วันนี้ (15 ตุลาคม 2567) NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รายงานว่า ช่วงช่วงมืดที่ผ่านมา หรือเวลาประมาณ 02.19 – 03.00 น. (ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่) ได้เกิดปรากฏการณ์ ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ และ ดาวเสาร์เคียงดวงจันทร์ ซึ่งส่งผลให้ดาวเสาร์ปรากฏเป็นจุดดาวเล็ก ๆ ใกล้กับดวงจันทร์ ในขณะเริ่มต้นปรากฏการณ์ ดวงจันทร์ฝั่งพื้นที่ผิวส่วนมืดได้เคลื่อนไปบังดาวเสาร์ จนดาวเสาร์ลับหายไป และจะโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งด้านฝั่งเสี้ยวสว่างของดวงจันทร์

Advertisements

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าเฉพาะภาคเหนือ บางส่วนของภาคกลาง บางส่วนของภาคตะวันตก และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นที่อื่น สังเกตเห็นเป็นปรากฏการณ์ดาวเสาร์เคียงดวงจันทร์

ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเสาร์
ภาพจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

สำหรับ “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์” นั้น เมื่อมองจากโลกออกไปจึงเห็นว่าดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวเสาร์ในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่หาชมได้ยาก เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยในปี 2567 ประเทศไทยสามารถสังเกตการณ์ได้ทั้งหมด 2 ครั้ง ในครั้งแรกคือคืนวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 และครั้งที่สองคือคืนวันที่ 15 ตุลาคม 2567

อย่างไรก็ดี หากท่านใดพลาดชมความงามของปรากฏการณ์ดังกล่าว สามารถติดตามปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไป ในเดือนตุลาคม ได้แก่ “ซูเปอร์ฟูลมูน” หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ซึ่งจะเกิดขึ้นในตลอดคืนวันที่ 17 ตุลาคม 2567

นอกจากนี้ยังมีดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ปรากฏในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตก ไปจนถึงช่วงปลายเดือนตุลาคม

ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเสาร์
ภาพจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Advertisements

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button