ข่าว

กรมสุขภาพจิตห่วงประชาชน ตามข่าวกรณีรถบัส แนะไม่สร้างเพิ่ม ไม่เสริมข่าว

กรมสุขภาพจิต ห่วงประชาชนตามข่าวสารกรณีรถบัส 1 ต.ค.67 อย่างต่อเนื่อง อาจสร้างความรู้สึกเศร้าโศก โกรธเคืองติดค้างในใจ และสร้างปัญหาสุขภาพจิต พร้อมแนะการสื่อสาร “ไม่สร้างเพิ่ม ไม่เสริมข่าว”

วันนี้ (3 ต.ค.) กรมสุขภาพจิต ยังดำเนินการลงพื้นที่เยียวยาเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งทีมไปยังจังหวัดอุทัยธานี เพื่อดูแลสุขภาพจิตครอบครัวผู้เสียชีวิต และสื่อสารการดูแลสภาพจิตใจประชาชนที่สามารถเข้าใจและปฎิบัติตามได้ พร้อมเร่งสื่อสารสังคมในการช่วยกัน ไม่สร้างภาพ AI ที่จะเร้าอารมณ์ของผู้ที่กำลังโศกเศร้า ไม่เสริมข่าว หรือส่งต่อเพื่อยั่วยุอารมณ์ เน้นย้ำประชาชนจัดสรรเวลาในการรับรู้ข่าวอย่างเหมาะสม

Advertisements

ขณะเดียวกัน นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การไม่รับข่าวสารมากเกินไป “ข่าวท่วมท้น” (information overload) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในยุคดิจิทัล ซึ่งผู้คนได้รับข้อมูลข่าวสารในปริมาณที่มากเกินไปจนทำให้เกิดความเครียด สับสน หรือไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อข่าวที่เข้ามาเป็นข้อมูลขัดแย้งกัน หรือเป็นข้อมูลที่เกินกว่าความสามารถในการประมวลผลของสมองในเวลาที่จำกัด

การรับข้อมูลข่าวสารมากเกินไปอาจทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล ไม่มั่นคง หรือรู้สึกว่ามีเรื่องที่ต้องกังวลอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งการรับข่าวอย่างต่อเนื่อง อาจสร้างความรู้สึกโกรธเคือง และทำให้เกิดอารมณ์ฉุนเฉียวต่อเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามที่ต้องการได้ ซึ่งในปัจจุบันส่งผลต่อกระแสสังคมทำให้เกิดความขัดแย้งและการตอบโต้เพื่อแสดงความรู้สึกที่เห็นต่างโดยใช้ช่องทางโซเชียลต่างๆ จนสร้างผลกระทบทางสังคมในมิติอื่นๆ

ดังนั้นการดูแลตนเองสำหรับคนทั่วไปที่รับรู้เหตุการณ์ร้ายแรงสามารถทำได้ดังนี้

1. เลือกข่าวจากแหล่งที่เชื่อถือได้

2. ไม่ติดตามข่าวอย่างต่อเนื่องมากเกินไป ไม่ควรเสพข่าวมากเกินไป รวมถึงอาจหลีกเลี่ยงการอ่านคอมเม้นท์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์

Advertisements

3. ไม่ส่งต่อข้อมูลที่ยั่วยุ หรือการแชร์ภาพ ที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อเป็นการเคารพสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบ

4. รู้เท่าทันความคิดและอารมณ์พฤติกรรมของตนเองเพื่อจัดการ และแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นได้

5. สำรวจสัญญาณเตือนสุขภาพจิต หรือใช้ช่องทางในการขอรับคำปรึกษาเพื่อทำให้คลายความวิตก และลดความตื่นตระหนกจากการติดตามเหตุการณ์ซ้ำๆ

6. หาวิธีการดูแลสุขภาพจิตเบื้องต้นที่เน้นให้ผ่อนคลาย และการอยู่กับผู้อื่น

ที่สำคัญไม่ควรติดตามข่าวซ้ำไปเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานเกิน 2 ชั่วโมง ควรหากิจกรรมอื่นๆ เพื่อลดความสนใจ และลดผลกระทบต่อสุขภาพจิตและการใช้ชีวิตประจำวันด้วย

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตและภาคีเครือข่ายมีช่องทางปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตสำหรับประชาชน โดยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ 1. ตรวจสุขภาพใจกับ MENTAL HEALTH CHECK-IN หรือ www.วัดใจ.com 2. DMIND บนแอปพลิเคชันหมอพร้อม 3. Sati App สามารถดาวน์โหลดฟรี ให้ท่านมีพื้นที่ออนไลน์สำหรับเด็ก เยาวชน และคนทั่วไป อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่รู้สึกเครียด ทุกข์ใจ รู้สึกอยากทำร้ายตนเอง หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ และท่านต้องการใครสักคนที่จะรับฟังโดยไม่ตัดสินคุณ 4. สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชม.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button