ข่าว

อ.เจษฎ์ แนะสังเกตอุปกรณ์ในรถ ช่วยชีวิตรอด หลังเกิดเหตุรถบัสไฟไหม้

อ.เจษฎา ถอดบทเรียนรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ ชี้รถบัสต้องมีมาตรฐานและอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย 3 สิ่ง พร้อมแนะนำวิธีการโดยสารรถบัสที่ถูกต้อง

จากกรณีอุบัติเหตุ วันนี้ (1 ตุลาคม 2567) เมื่อเวลา 12.20 น. เกิดเหตุรถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เกิดเหตุเพลิงไหม้อย่างรุนแรง บริเวณหน้าเซียร์รังสิต ถนนวิภาวดี ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

Advertisements

ล่าสุด “รศ. ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ถึงมาตรการการรักษาความปลอดภัยของรถบัส รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติตน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น

รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้

อ.เจษฎ์ ระบุว่า จากข่าวสลดวันนี้ น่าจะต้องถอดบทเรียน และคุ้มกันจริงจังมากขึ้นกับรถบัส รถเมล์ และรถขนส่งสาธารณะ หากไม่มีอุปกรณ์ความปลอดภัยครบถ้วนตามมาตรฐาน หรือเกิดมีปัญหาในการใช้งาน ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้ อย่างข่าววันนี้ ที่กล่าวว่าประตูฉุกเฉินเปิดไม่ได้ ซึ่งความจริงต้องเปิดได้ตลอดทั้งจากในรถและนอกรถ

ทั้งนี้ จึงอยากนำบทความจาก Patsornchai Tour – ภัสสรชัยทัวร์ กล่าวถึง อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย 3 สิ่ง ที่รถบัสทุกคันต้องมี ซึ่งจะช่วยบรรเทาความร้ายแรงของเหตุฉุกเฉินที่กำลังเกิดขึ้น และเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยทำผู้โดยสารออกจากห้องโดยสารได้

1. ประตูทางออกฉุกเฉิน

Advertisements

หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ผู้โดยสารควรมองหาประตูรถทางออกฉุกเฉิน เพื่อออกจากตัวรถบัสให้ได้เร็วที่สุด โดยประตูทางออกฉุกเฉินต้องมีสัญลักษณ์บ่งบอกอย่างชัดเจน ทั้งภายในและภายนอกตัวรถ ว่าเป็นตำแหน่งของประตูฉุกเฉิน

ในกรณีที่เป็นประตูทางออกอยู่ท้ายตัวรถ ต้องมีข้อความว่า “ทางออกฉุกเฉิน” เป็นอักษรภาษาไทย ความสูงไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร สีแดงสะท้อนแสง ติดอยู่เหนือบริเวณที่เปิดปิดประตู หรือบริเวณขอบประตูด้านบนทางออกฉุกเฉิน ให้สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม หากประตูฉุกเฉินอยู่บริเวณอื่น ๆ ได้แก่ ด้านขวากลาง หรือค่อนไปทางท้ายรถ จะต้องมีขนาดทางออกไม่น้อยกว่า 40 ซม. ความสูงไม่น้อยกว่า 120 ซม. ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ประตูฉุกเฉินจะต้องสามารถเปิดได้ โดยไม่ต้องใช้กุญแจหรืออุปกรณ์ใด ๆ ต้องเปิดได้ทั้งด้านกว้างและด้านยาว และไม่มีสิ่งกีดขวางกั้นทางออก เพื่อความสะดวกต่อการใช้งาน

ประตูฉุกเฉินบนรถบัส

2. ถังดับเพลิง

รถบัสทุกคันจะต้องมีถังดับเพลิงไว้ใช้ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือเกิดเพลิงไหม้บริเวณห้องโดยสาร ซึ่งภายในห้องโดยสารส่วนใหญ่ จะมีการติดตั้งถังดับเพลิงขนาด 2 ปอนด์ ไว้อย่างน้อย 2 ตำแหน่ง คือบริเวณ “เบาะหน้า” ใกล้คนขับ และบริเวณ “ที่นั่งด้านหลัง” หรือ “ตรงกลาง” ของห้องโดยสาร เพื่อให้หยิบให้งานได้ง่าย

สำหรับวิธีการใช้ถังดับเพลิงในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ให้ดึงสลักล็อกที่บริเวณคันบีบออก จากนั้นให้ปลดสายฉีดออกจากตัวถัง หันปากสายฉีดไปที่ “ฐาน” กองไฟ แล้วกดคันบีบแล้วส่ายสายฉีด เพื่อให้สารที่พ่นออกมาจากถังดับเพลิง พ่นให้ทั่วทั้งกองไฟ ไม่ควรฉีดไปที่เปลวไฟ และควรยืนห่างจากกองไฟประมาณ 6-8 ฟุต เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน

ถังดับเพลิง

3. ค้อนทุบกระจก

รถบัสทุกคันจะต้องมีค้อนทุบกระจก หรืออุปกรณ์ที่มีด้ามจับสีแดง มีหัวเหล็กลักษณะกลม ๆ ยื่นออกมา ส่วนใหญ่จะติดอยู่บริเวณ กระจกข้างรถ มีไว้สำหรับการกรีด หรือทุบกระจก เพื่อเปิดเป็นทางออกฉุกเฉิน สามารถทุบเปิดกระจกได้เร็วกว่าของแข็งอื่น ๆ ส่วนวิธีการใช้ให้ดึงออกจากแท่นเก็บ จากนั้นจับด้ามให้แน่น แล้วใช้ปลายแหลมกรีดลงที่กระจกให้เป็นรอย แล้วใช้ปลายค้อน ทุบที่แนวกรีด จากนั้นกระจกจะแตกละเอียด

ค้อนทุบกระจกฉุกเฉิน

ข้อแนะนำสำหรับการโดยสารรถบัส

1. เลือกเดินทางกลับบริษัทผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ ตรวจเช็คสภาพรถก่อนออกเดินทาง และเป็นบริษัทที่ไม่มีประวัติ การเกิดอุบัติเหตุหนัก ข้อมูลดังกล่าวสามารถเช็กได้กับกรมขนส่งทางบก

2. บนรถบัสทุกคันต้องมีเข็มขัดนิรภัยอัตโนมัติอย่างน้อย 2 จุด ในทุกที่นั่ง เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารในขณะเดินทาง

3. ขณะเดินทางผู้โดยสารควรสังเกตอาการของพนักงานขับรถ ว่ามีอาการมึนเมา ง่วง หรือขับรถเร็วเกินไปหรือไม่ หากพบความผิดปกติควรโทรแจ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ จุดตรวจของกรมขนส่ง หรือบริษัทของผู้ให้บริการ

4. หากเป็นระยะทางไกลมากกว่า 400 กิโลเมตร บริษัทผู้ให้บริการจะต้องมีพนักงานขับรถ 2 คน หรือจะต้องมีการหยุดจอดรถพักทุก 4 ชั่วโมง อย่างน้อยเป็นเวลา 30 นาที นอกจากนี้พนักงานขับรถจะต้องขับรถด้วยความสุภาพ และมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทาง เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่อาจเกิดขึ้นได้

ข้อมูลจาก : Jessada Denduangboripant, patsornchaitour

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button