ข่าว

รู้จัก ‘ด้วงสาคู’ แมลงท้องถิ่น สู่สัตว์เศรษฐกิจดาวรุ่ง แหล่งโปรตีนชั้นดี

รู้จัก “ด้วงสาคู” แมลงกินได้ของดีเมืองไทย เพชรเม็ดงามแห่งวงการอาหารโลก กำลังเปล่งประกายในฐานะสัตว์เศรษฐกิจดาวรุ่ง

“ด้วงสาคู” หรือที่ ด้วงงวง ด้วงไฟ แมลงกินได้ที่ไม่ใช่แค่ฉายาของ เน็ตไอดอลชื่อดังย่านประตูน้ำ ซึ่งกำลังเป็นกระแสคุกกรุ่นอยู่บนโลกโซเชียลในขณะนี้ หนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจที่น่าจับตามอง นิยมทำฟาร์มเพาะเลี้ยงในภาคใต้ ได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้วยวงจรชีวิตที่สั้น เพาะเลี้ยงง่าย โตเร็ว และขนาดตัวใหญ่ ทำให้ด้วงสาคูเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่มองหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ ๆ

Advertisements

ด้วงสาคู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไรน์โคฟอรัส เฟอร์รูจิเนียส โอลิเวอร์ (Rhynchophorus ferrugineus Oliver.) อยู่ในวงศ์ เคอร์คิวลิโอนิดี (Curculionidae) อันดับ โคเลอออปเทอรา (Coleoptera) มีชื่อสามัญว่า พินโฮลบอเรอะส (Pin-hole borers), ทรู วี-เวิลส์ (True weevils) คนภูมิภาคใต้มักเรียกว่า ด้วงลาน หรือ ด้วงสาคู อย่างที่เราคุ้นเคย

วงจรชีวิตของด้วงสาคูค่อนข้างสั้น ใช้เวลาเพียง 150-259 วัน ตั้งแต่ระยะไข่จนถึงตัวเต็มวัย โดยเฉพาะระยะตัวหนอนที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนักดี และเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว

วงจรชีวิตด้วงสาคู

ด้วงสาคูเมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 2.2 ถึง 3.5 เซนติเมตร ปลายปีกมีสีน้ำตาล ส่วนอกมีสีแตกต่างกันไป ตั้งแต่ดำ น้ำตาล ไปจนถึงเหลืองส้ม บริเวณอกด้านบนมีจุดสีน้ำตาลเข้มกระจายอยู่ทั่วไป

หัวของด้วงมีงวงยาวเรียว ปลายงวงเป็นปากสำหรับกัดกินอาหาร บริเวณใกล้ตามีหนวดยื่นออกมาทั้งสองข้าง ปีกคู่หน้ามีรอยเส้นเป็นแนวตามยาว ปีกไม่คลุมส่วนปลายท้องทั้งหมด ด้วงสาคูตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งสามารถสังเกตได้จากรายละเอียดต่างๆ บนลำตัว

Advertisements

ลักษณะของด้วงสาคูเมื่อโตเต็มวัย

นอกจากความสะดวกในการเพาะเลี้ยงแล้ว ด้วงสาคูยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งโปรตีน ไขมันดี และแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม และโซเดียม

ทำให้เป็นที่นิยมบริโภคของคนไทย และถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น ด้วงสาคูทอดกรอบ โรยผงชีส หรือปรุงรสด้วยสมุนไพรไทย เช่น ใบมะกรูดและใบเตย เพิ่มมูลค่าและความน่าสนใจให้กับผู้บริโภค

ตัวอย่างความสำเร็จของการเพาะเลี้ยงด้วงสาคู คือ ฟาร์มของ คุณพิมพ์ปวีณ์ เพ็ญชาติ ที่เริ่มต้นจากความชอบส่วนตัว สู่การสร้างอาชีพเสริมในช่วงวิกฤตโควิด-19

คุณพิมพ์ปวีณ์ เริ่มต้นจากการสั่งซื้อชุดทดลองเลี้ยงด้วงสาคูจากเว็บชอปปิ้ง และด้วยความใส่ใจและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เธอสามารถขยายการเพาะเลี้ยงจนกลายเป็นฟาร์มที่ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างรายได้จากการขายทั้งหนอนสดและผลิตภัณฑ์แปรรูป

ด้วงสาคู จึงไม่ใช่เพียงแค่แมลงธรรมดา แต่เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูง เป็นโอกาสสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการในการสร้างรายได้ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค

นอกจากนี้ การเพาะเลี้ยงด้วงสาคูยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากด้วงสาคูเป็นแมลงที่กินเศษซากพืชเป็นอาหาร ช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์และส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน

ด้วงสาคู จึงเปรียบเสมือนเพชรเม็ดงามที่ซ่อนอยู่ในธรรมชาติ รอวันที่จะเปล่งประกายในวงการอาหารยุคใหม่ เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนนั่นเอง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : Opsmoac, aopdb03

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button